ระยะทาง 7 กิโลเมตร บนถนนสาย 409 (ยะลา-บ้านเนียง) อ.เมือง จ.ยะลา หรือเพียง 10 นาที จากเขตเทศบาลนครยะลา เราก็จะเดินทางมาถึงวัดคูหาภิมุข (พุทธไสยานุสรณ์) ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา หรือวัดที่รู้จักกันว่า “วัดหน้าถ้ำ” วัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของ จ.ยะลา
เมื่อเดินทางมาถึงภายในวัดเราก็จะสัมผัสได้ถึงความสวยงามต่างๆ โดยเฉพาะถ้ำ ที่ถือเป็นจุดขายของที่นี่ ที่จะต้องเดินขึ้นบันไดไปกว่า 100 ขั้น ผ่านยักษ์วัดถ้ำ หรือพ่อเจ้าเขา ที่ยืนตะหง่าน ถือไม้ตะบอง สูงนับสิบเมตร เฝ้าอยู่ที่ปากทางเข้าถ้ำ
ภายในถ้ำซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ อากาศเย็นสบาย ซึ่งเราจะเห็นพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนองค์ใหญ่ อยู่ภายในถ้ำ รวมทั้งองค์พระขนาดใหญ่ และขนาดต่างๆจำนวนมา สำหรับพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนองค์นี้มีลักษณะของส่วนประกอบที่แปลกออกไปจากพระนอนองค์อื่นคือมีพญานาคแผ่พังพานอยู่เหนือเศียรพระนอนทำให้มีผู้สันนิษฐานถึงที่มาของพระนอนองค์นี้ว่าเดิมอาจเป็นเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตามศาสนาพราหมณ์ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนส่วนนี้จึงได้ดัดแปลงเทวรูปดังกล่าวให้เป็นพระพุทธรูปดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ชวนร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ "อ่าวมะขามป้อมเคาท์ดาวน์ 2025" ชมพลุสายรุ้งตระการตายาว 15 นาที
- พะเยา สมัคร สจ.วันแรกคึกคักแดงทั้งทีม นักการเมืองระดับชาติ ส่งชิงเก้าอี้
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- สมัคร อบจ. ระยองวันแรก คึกคัก ลงสมัคร ครบทีม
อาจารย์เนาวรัตน์ น้อยพงษ์ ชาวบ้านตำบลหน้าถ้ำ เปิดเผยว่า ประวัติของพ่อท่านบรรทม หรือพระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย โดยมีเจ้าเมืองของกรุงศรีวิชัย ท่านหนึ่งในขณะนั้น ผู้ครองนครปาเล็มบัง ไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร แต่มีการเรียกขานว่า พระเจ้าปาเล็มบัง เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมสร้างพ่อท่านบรรทม ประมาณปี 1300 ที่ผ่านมา ในขณะนั้น หัวเมืองต่างๆในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในขณะนี้คือ ศรีวิชัย อยู่ที่นครศรีธรรมราช ก็ได้มีการเกณฑ์ให้เจ้าเมืองต่างๆในภาคใต้ ไปร่วมสร้างพระธาตุ เจ้าเมืองที่ได้รับเกณฑ์ก็นำแก้วแหวนเงินทองต่างๆไปร่วมสร้าง แต่ในขณะที่เดินทางก็มาพบถ้ำแห่งนี้ก่อน จึงได้รวบรวมเจ้าเมืองต่างๆที่เดินทางมาด้วยกันสร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้
“พ่อท่านบรรทม องค์นี้ตามหลักฐานแล้วพบว่าไม่ใช่องค์เดิม องค์เดิมจริงๆแล้วอยู่ภายใน โดยมีองค์ปัจจุบันนี้เป็นพระพุทธไสยาสน์ของนิกายหินยาน สร้างทับองค์เดิม ซึ่งเป็นมหายาน ที่ผ่านมาในสมัยพระครูพงษ์ทอง บริเวณอกของพ่อท่านบรรทมถูกน้ำหยดลงมาใส่จนพังเสียหาย จึงทำให้เห็นองค์พระองค์เดิมภายใน ที่เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ที่มีสร้อยสังวาลต่างๆ โดยมีองค์ปัจจุบันที่ทำโครงไม้ไผ่และดินเหนียวสร้างครอบเอาไว้ และหลักฐานที่เห็นชัดเจนว่าเป็นมหายาน ก็คือพญานาคที่มี 2 เศียร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่แปลกคือ องค์พระพุทธรูปเป็นหินยาน แต่มีหลักฐานทางมหายาน ซึ่งมองดูแล้วสวยงามกลมกลืนกันของสองลัทธิ” อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าว
อาจารย์ท่านนี้ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยพบปัญหาองค์พระแตก เนื่องจากน้ำจากเพดานถ้ำหยดลงมาที่องค์พระ ล่าสุดก็ยังพบว่ามี เนื่องจากองค์พระมีความเก่ามาก แต่ที่ดีใจก็คือเมื่อก่อนที่พื้นภายในห้องโถงพ่อท่านบรรทม มีการนำหินอ่อนมาปูทับ เพื่อความสวยงาม ปรากฏว่าเมื่อทางกรมศิลป์มาเห็น ก็บอกว่าถ้ายังปล่อยเอาไว้แบบนี้ อีก300-400 ปี องค์พระจะพังลงมา สาเหตุก็เนื่องมาจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หินอ่อนซึ่งสวยงามแต่เมื่อนำมาปูไว้ที่พื้น ก็ทำให้ความชื้นจากพื้นไม่สามารถขึ้นมาได้ จะอาศัยความชื้นจากผนังถ้ำก็ไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความชื้นจากพื้นด้วย จึงได้ทำการรื้อหินอ่อนออกทั้งหมด เพื่อรักษาความชื้นเอาไว้ ทำให้เราทราบว่าทำไม 1300 ปีผ่านมา องค์พระถึงไม่พัง
“พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ สำคัญเป็น 1 ใน 3 ของภาคใต้ คือพระบรมธาตุไชยา พระธาตุนครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ ของศรีวิชัย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนตำบลหน้าถ้ำ ภาคภูมิใจ การเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลของชาวตำบลหน้าถ้ำ ทุกวันพระชาวบ้านก็จะมาร่วมกันทำความสะอาดวัด หากทาง อบต.หน้าถ้ำ สามารถฟื้นฟูการท่องเที่ยววัดคูหาภิมุข กลับคืนมาได้ โครงการยุวมัคคุเทศก์ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่ได้เงียบหายไป ยังบรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่น เรียนในห้องเรียน หากมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เดินทางมาทัศนศึกษา ก็จะมียุวมัคคุเทศก์ ไปให้ความรู้ อธิบายเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาคภูมิใจของท้องถิ่นมาก อยากให้สามารถฟื้นฟูการท่องเที่ยวกลับมา รวมทั้งให้ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนทั่วไป” อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าว
ถึงแม้ความหวังในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นเรื่องที่ถูกมองว่ายังอีกห่างไกล แต่คนในพื้นที่เหล่านี้ ก็ยังมีความหวัง รอคอยที่จะนำความภาคภูมิใจของพวกเขา บอกกล่าวเล่าขาน ให้กับคนไทยอีก 75 จังหวัด ได้รับรู้เรื่องราวอันสวยงาม และทรงคุณค่าในพื้นที่…….ปลายขวาน
นครินทร์ ชินวรโกมล รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: