ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียล ในช่วงเช้าวันนี้ (22 เม.ย. 62) ระบุ “พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลกใน 48 ชม. เป็นผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก” นั้น กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลวง พายุสุริยะไม่มีผลทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น วอนประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียล ในประเด็น พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลกใน 48 ชั่วโมง เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกอยู่ในช่วงสลับขั้ว จึงทำให้อ่อนกำลังลง จะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั่วโลก กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พายุสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นหรือเกิดอันตรายต่อโลก จะมีผลกระทบเพียงระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้การสลับขั้วสนามแม่เหล็กต้องใช้ระยะเวลานับแสนปี ดังนั้น ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาวันหรือสองวัน อาจส่งผลเล็กน้อย เช่น เกิดแสงออโรราบริเวณขั้วโลกมากกว่าปกติเท่านั้น แต่ที่เกิดการเผยแพร่ข่าวในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเพราะการนำข้อมูลเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และโลกมาเชื่อมโยงกัน ประกอบกับขณะนี้เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทุกพื้นที่ของประเทศมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลจากการรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงอาทิตย์เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่มีปฏิกิริยาภายในเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ที่บริเวณผิวของดวงอาทิตย์นอกจากจะมีอุณหภูมิสูงมากแล้วยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปรากฏการณ์การลุกจ้า (Solar Flare) ปรากฏการณ์การเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ปรากฏการณ์การปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection : CME) เป็นต้น การเกิดปรากฏการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น
ในกรณีของการปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ กลุ่มมวลที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะอยู่ในรูป “พลาสมา” หรือสถานะที่อะตอมของธาตุอยู่ในสภาพเป็นไอออน เป็นประจุไฟฟ้าพลังงานสูง หากมีการระเบิดที่รุนแรงขึ้นจนทำให้กลุ่มพลาสมาเหล่านี้มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมาก เราเรียกกลุ่มพลาสมาเหล่านี้ว่า “พายุสุริยะ” (Solar Storm) การปลดปล่อยมวลโคโรนาจนทำให้เกิดพายุสุริยะจะมีความสัมพันธ์วัฏจักรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวงจรประมาณ 11 ปี เมื่อดวงอาทิตย์มีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก (Solar Maximum) สนามแม่เหล็กบริเวณดังกล่าวก็เกิดความปั่นป่วน มีการสะสมพลังงานมากขึ้นจนถึงจุดวิกฤตทำให้เส้นแรงแม่เหล็กที่บิดพันกันเป็นเกลียวขาดออกจากกันและเกิดการปลดปล่อยมวลออกสู่อวกาศ ในทุกทิศทุกทาง ซึ่งความเร็วและรุนแรงของกลุ่มประจุไฟฟ้าพลังงานสูงจะขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงในการระเบิดหรือการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์เอง แต่ในกรณีวันที่ 22 เมษายน นี้ ไม่พบรายงานที่ผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้นตอข่าวลือต่างๆ ไม่ได้มาจากไหน แต่วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้ จึงขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: