X

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ทำประชาคม รื้อ..บ้านพุดซา โคราช แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะสื่อมวลชน ร่วมทำประชาคม ต.พุดซา รื้อ แหล่งโบราณสถานอารยธรรมขอม

ที่ผ่านมา  ดร.สุรสิทธิ์ สิงห์หลง  ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วย นายฐิติรัตน์ พงษ์พุทธรักษ์  นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ไปยังที่ทำการเทศบาลตำบลพุดซา  เพื่อหารือและขอมติการรื้อฟื้นตำนานเมืองโบราณของตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

นายเกรียงศักดิ์  นาคหฤทัย  นายกเทศบาลตำบลพุดซา  พร้อมด้วยนายประเสริฐ  เชยพุดซา  กำนันตำบลพุดซา  พร้อมคณะผู้นำท้องถิ่น และประชาชนได้ให้การต้อนรับ ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา  และนายฐิติรัตน์  พงษ์พุทธรักษ์ นายกสมาคมนักข่าว จังหวัดนครราชสีมา  พร้อมด้วยคณะผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก  เพื่อร่วมรับฟังการทำประชามคมเพื่อหารือ และขอความคิดเห็นจากคนในท้องที่ เรื่อง การยกแหล่งโบราณอารยธรรมขอม ที่มีอายุยืนยาว เป็นสถานที่ให้พี่น้องประชาชน ได้เข้ามากราบสักการะ และเพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป  รวมทั้งยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

ปัจจุบัน  บ้านพุดซา  อยู่ในพื้นที่การรับผิดชอบ ของเทศบาลตำบลพุดซา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  ทั้งที่ความจริงบ้านพุดซาแห่งนี้มีเรื่องราว  ตำนานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เป็นโบราณสถานที่ค้นพบสถาปัตยกรรมในสมัยเกาะแกร์  ที่ผสมผสานมาถึงยุค นครวัต – บายน หรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึง 18 โดยมีอายุโบราณทางด้านวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ก่อนยุคปราสาทหินพิมาย

นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว  ยังมีบึงขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า  2,500 ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  “บึงพุดซา”  ที่เล่าขานกันว่าเป็นบึงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก  และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่  ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ต้องจมอยู่ใต้บาดาลจนกระทั่งต้องสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขึ้นเป็นจำนวนมาก  เพื่อหวังจะให้หมู่บ้านแห่งนี้พ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม

เมื่อราวปี 2478 กรมศิลปากรได้เดินทางมาสำรวจบริเวณบ้านพุดซาบ้างแล้ว   พร้อมได้ขึ้นทะเบียนและปักปันอาณาเขตโบราณสถานไว้ด้วย  จากอดีตจนถึงปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย  เนินดินที่กลบซากปรักหักพังอยู่อย่างไร  ก็ยังอยู่อย่างนั้น องค์พระพุทธรูปที่ถูกเก็บ กระจายอยู่ยังวัดต่าง ๆ และบ้างก็ว่ากันว่าสูญหายกันไปมิใช่น้อย

บ้านพุดซา บริเวณที่ตั้งของวัดปรางค์ทองในปัจจุบัน  สันนิษฐานกันว่า  อดีตเคยเป็นปราสาทของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ายโศวรมัน แห่งอาณาจักรขอม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  15  ตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบขอม  ก่อสร้างด้วยอิฐ  มีการบันทึกไว้ว่า  สภาพของปราสาทเมื่อปี 2521 ยังคงเห็นส่วนฐานปราสาทที่ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงสลักเป็นฐานบัวรองรับปราสาทหลังทิศใต้ (เดิมกรมศิลปากรขุดแต่งพบฐานบัวรองรับปราสาทอิฐ 3 หลัง เรียงตัวในแกนทิศเหนือ – ใต้  สำหรับปราสาทประธาน(หลังกลา)และปราสาทหลังทิศเหนือพังเสียหายหมดแล้ว) ปัจจุบันได้ถมดินรอบปราสาทเหนือระดับฐานบัว  อย่างไรก็ตาม ปราสาทดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น  3  ส่วน  คือ ส่วนฐาน  ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ในบริเวณวัดปรางค์ทอง  ยังได้พบชิ้นส่วนของโบราณสถานประเภทหินทรายแดง  หินทรายขาว สลักเป็นหน้าทับหลัง  เสาประดับกรอบประตู ลูกกรงหน้าต่าง ฐานประติมากรรม  กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากภายในวัด  อาทิ  ทับหลัง ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าปราสาทบริวาร มีภาพที่ลบเลือนมาก และดินถมขึ้นเกือบครึ่งแผ่น  ที่กึ่งกลางภาพมีรูปบุคคลนั่งชันเข่า เหนือสัตว์พาหนะ (อาจเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอรวัณ) มีท่องพวงมาลัยออกมาจากกึ่งกลางทับหลัง  เป็นวงโค้งเล็กน้อยเหมือนถูกกดไว้ด้วยน้ำหนักคล้ายกับทับหลังที่จัดแสดงที่สำนักงานอุทยานปราสาทพนมรุ้ง  ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์  อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15

ทับหลังรูปพระวิษณุทรงครุฑ  ซึ่งเก็บไว้บนศาลาวัด  ที่กึ่งกลางภาพสลักภาพพระวิษณุ (พระนารายณ์) ทรงครุฑนั้น ก็ยุคนาคสองตัวที่ทอดยาวตลอดทั้งสองข้างของทับหลัง  ทำนองเดียวกับลายท่องพวงมาลัย ปลายท่องพวงมาลัยเป็นนาคสามเศียรซึ่งหันหน้าออกมาเบื้องหน้า และนาคแต่ละเศียรมีมงกุฎลายใบไม้เป็นเครื่องประดับเหนือท่อนพวงมาลัยสลักเป็นรูปใบไม้ม้วนห้อยตกลงมาจนถึงแนวล่างสุด  สลักเป็นแนวกลับบัวเช่นกัน  ลวดลายดังกล่าวเหมือนกับทับหลังซึ่งที่ปราสาทพนมวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้  สถานที่แห่งนี้ ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่สำคัญ ที่ชาวบ้านให้ขนานนามว่า  เป็นเมืองบาดาล หรือเมืองพญานาค  จึงเป็นที่มาของการจัดทำประชาคมในครั้งนี้  โดย ดร.สุรสิทธิ์  สิงห์หลง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครราชสีมา  ที่พร้อมจะช่วยผลักดันให้สถานที่แห่งนี้  เป็นเมืองของการท่องเที่ยวเชิงอารยธรรม อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน