X

อช.เขาใหญ่ จับมือสภาองค์กรชุมชนรอบเขาใหญ่ 4 จังหวัด หาแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่/ 13 กุมภาพันธ์ 2561  ณ ศาลา บริเวณบ้านพักโซนธนะรัชต์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หารือร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบล 4 จังหวัดรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  โดย มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมเจ้าหน้าที่ และสำนักการมีส่วนร่วม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมตัวแทนสภาองค์กรชุมชนรอบเขตอุทยานแห่งชาติ 4 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ พอช.เข้าร่วมประชุม

นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองปกป้องทรัพยากร เกิดขึ้นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ที่ไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้นำรูปแบบในการดำเนินการอุทยานแห่งชาติกลับมาดำเนินการที่ประเทศไทย ในพื้นที่ 13 แห่ง

แต่เดิมพื้นที่ที่มีความพร้อมคือ ภูกระดึง แต่สมัยนั้นการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ยากลำบาก จึงเริ่มที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นผู้นำได้นำกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว มีการทำบังกะโล มีสนามกอล์ฟ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยในช่วงต่อมาก็กระแสต่อต้านจึงได้มีการให้สนามกอล์ฟย้ายไปอยู่ข้างล่าง

อุทยานฯ พื้นที่ 1.35 ล้านไร่ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเมื่อปีที่ผ่านมาจำนวน 1.5 ล้านคน โดยเป็นยอดจากการเก็บตั้ว และยังมีบางส่วนที่ไม่ได้บันทึก ซึ่งพื้นที่อุทยานฯ ยังมีอีกหลายที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว เช่น โกรกอีดก ที่อุทยานเปิดให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการผ่านชุมชน แต่ก็มีการร้องเรียนของนักท่องเที่ยวในเรื่องเก็บค่าเข้าชมและยังมีอีกหลายๆ แห่งอีกเป็นจำนวนมาก

โดยการทำงานของอุทยานฯ อยู่ภายใต้การกำกับของคณะทำงานบริหารจัดการอุทยานฯ ที่มีตัวแทนจาก 4 จังหวัด โดย คกก.มีที่มาจากหลากหลาย มีประธานคือท่านเจ้าคุณวัดมงกุฏคีรีวัน มติที่เกิดขึ้นจึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง เราให้ความเชื่อมั่น ใส่ใจกับชุมชน วันนี้ชุมชนมีบทบาทสำคัญ

เขาใหญ่มีนักท่องเที่ยว เข้ามาแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เดิมเข้ามาทางฝั่งปากช่อง ต่อมาก็มีทางขึ้นในฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี เคยมีแผนเรื่องการตัดถนนเพื่อเพิ่มความสะดวก ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด แต่พี่น้องประชาชนก็ไม่เห็นด้วย อุทยานฯ จึงไม่ดำเนินการ วันนี้อุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่มากที่สุดในประเทศไทย 430 คน เขาใหญ่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามรองลงมาจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน วันนี้เขาใหญ่ยังมีภัยคุกคาม การลักลอบตัดไม้ ไม้หอม ไม้พยูง การล่าสัตว์ เราจะทำอย่างไร

การจัดการโดยชุมชน แม้เคยมีกฏหมาย รธน.ปี 40 ในการรองรับ แต่กฏหมายลูกก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อยังไม่มีกฏหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน การที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรก็ลำบาก เขาใหญ่พื้นที่ 430 ตารางกิโลเมตร หากเอาเจ้าหน้าที่ไปยืน ห่างกัน 1 กิโลเมตร ก็ไม่สามารถครอบคลุม ก็ยังมีปัญหา ยังมีการลักลอบตัดไม้ เพราะไม้มีมูลค่า บางแผ่นราคาถึง 2 ล้านบาท การดำเนินการของพวกลักลอบตัดไม้ พาคนเขมรเข้ามา แล้วทำให้เสร็จภายใน 4 ชั่วโมง เพราะไม้พยูง 1 ต้น ทำได้ 7 แผ่น ๆ ละ 350,000 หากเอาเงินค่าไม้ 1 แผ่น มาเป็นการเคลียร์เขายังได้เป็นล้าน

เราพยามสร้างความเข้มแข็งร่วมกับชุมชน หากอุทยานยังทะเลาะกับชุมชน ชุมชนไม่มีส่วนร่วม การทำงานก็เป็นไปได้ยาก หากวันนี้พี่น้องเข้มแข็ง เราไม่สามารถจัดการคนเลว แต่มาสร้างเสริมคนดีได้ วันนี้อุทยานเราออกไปสอนที่ราชภัฎ วิชาธรรมชาติศึกษากับป่าเขาใหญ่ เป็นความร่วมมือกับ สพฐ. และอีกแนวทางหนึ่งเรารวบรวมกลุ่ม เลียนแบบ ททท. กลุ่มนครชัยบุรินทร์ เราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไร มาคุยกัน 4 จังหวัด 2 นคร 2 บุรี ก็เป็นกลุ่ม 2 นครา 2บุรี  โดยมีเขาใหญ่เป็นศูนย์กลาง ที่มีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่เข้าหาไม้หอม

สถานการณ์ปัจจุบัน เขาใหญ่เริ่มโอเวอร์โหลด แม้พื้นที่จะมีศักยภาพอีกหลายแห่ง ปัจจุบันจึงยังไม่เปิดอีกหลายพื้นที่ ถ้าวันนี้ชุมชนมาร่วมดูแล คนจะรักมรดกโลกมากขึ้น แต่ประชาชนยังไม่ได้อะไร ประชาชนยังไม่เห็นความสำคัญ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เราดูแลคน 1.5 ล้านคน เราจัดการได้ตลอด แต่วันไหนหากมีบางคนลงไปถ่ายรูปกับช้างแล้วเกิดปัญหา อุทยานก็โดนอัด

อุทยานฯ เราจัดการมา 55 ปี ทำอย่างไรที่เราจะดึงภาคประชาชน สภาองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ วันนี้มาถูกทาง สิ่งที่เราพูดคุยสามารถส่งต่อไปสู่ผู้บริหารระดับนโยบาย และเป็นแผนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ และหากได้ดำเนินการ ก็จะมีการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ

ปัจจุบัน ช้าง หรือสัตว์ป่า มีการออกนอกพื้นที่ทุกคืน โดยเฉพาะ เหวป่ากั้ง โปร่งตาลอง ความรุนแรงของสัตว์ป่าที่ออกนอกอุทยานมีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่อัตราการตายของสัตว์ป่าลดลง ทำให้สัตว์ป่าเพิ่มปริมาณขึ้นมาก เช่น ช้าง ซึ่งไม่มีสัตว์อย่างเสือโคร่งมาควบคุมปริมาณ วันนี้ประชากรช้างจะขยายออกไปเรื่อยๆ สัตว์ป่าที่ออกมามากๆ เราจะทำอย่างไรกัน สร้างรั้ว หรือย้ายชาวบ้านออก หรือจะให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืช

ภาคราชการยังไม่มีความเชื่อมั่นในภาคประชาชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน เราจะทำให้ราชการเกิดความเชื่อมั่น เรารักษาทรัพยากรไว้ให้กับประเทศ และโลก เราเริ่มต้นที่เขาใหญ่ และจะขยายไปสู่ 153 อุทยาน 60 เขตรักษาพันธุ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์

บางสะพานน้อย เกาะทะลุ ขออุทยานฯ ให้ประกาศฯ เพื่อใช้กฏหมายเข้าไปคุ้มครอง การเข้ามาทำลายทรัพย์กร แต่ก็มีบางด้านที่เมื่อประกาศวนอุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเก็บเห็ด และใช้ประโยชน์จากป่าได้ การบ้านวันนี้คือการเพิ่มพื้นที่ป่า การประกาศพื้นที่อุทยานทับที่ทำกิน อย่างที่ตำบลไทยสามัคคี เขาใหญ่เป็นของทุกคน เป็นต้นแบบในการดูแลทรัพยากร

นายกษิเดชธนทัต เสกขุนทด คณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า เรื่องการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปทรัพยากร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม โจทย์ใหญ่วันนี้การมีส่วนร่วมอยู่ในระดับไหน อยู่ในระดับหน่วยงาน หรืออยู่ในรูปอาสาสมัคร และคณะกรรมการ ยังไม่มีหน่วยงานไหนสร้างการมีส่วนร่วมถึงประชาชนทั้งหมดได้ มีภาคประชาชนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว

วันนี้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่อยู่ในระดับแกนนำ อาสาสมัคร หรือคณะกรรมการ ประชาชน กลุ่มองค์กรชุมชน มีการทำเรื่องทรัพยากร จนมีพัฒนาการเกิดกฏหมาย พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน  ทำไมหน่วยงาน และสภาองค์กรชุมชนยังไม่เจอกันสักที  ยังไม่มีใครเป็นโปรโมเตอร์ ที่มาจัดให้ได้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พบกัน พื้นที่ภาคประชาชนมีความเป็นองค์กร ทรัพยากรฯ มีอาสาสมัคร ทุกหน่วยงานมีอาสาสมัคร แต่ยังเป็นเชิงปัจเจก วันนี้ สภาฯรวบทุกอาสาสมัครอยู่ในรูปองค์กร คำตอบการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เครื่องมือที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ สภาองค์กรชุมชน ที่ปฏิบัติการเรื่องงานพัฒนา หากไปรวมกับท้องถิ่น และท้องที่จะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนในพื้นที่

คกก.ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มี 40 % แปรว่าจะไปขอคืนจากชาวบ้านใช่หรือไม่ ในขณะที่ชาวบ้านก็ต้องการที่ดินเพื่อดำรงชีพ ป่าที่มีจะอนุรักษ์รักษาอย่างไร ป่าชุมชน ป่าเอกชน ป่าหัวไร่ปลายนา เห็นชั้นของการเพิ่มพื้นที่ป่า การเพิ่มป่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรฯหรือไม่ ซึ่งกำลังเจ้าหน้าที่มีกำลังไม่เพียงพอ ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม แบ่งบทบาทกันอย่างไร

บทบาทสภาฯ ตามมาตรา 21 ใน 3 วงเล็บ วันนี้จะมีส่วนร่วมกันอย่างไร หลักสามเหลี่ยม เศรษฐกิจ ปากท้องของพี่น้อง การสร้างมูฟเม้นท์ และนโยบาย กระทรวงทรัพยฯ ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่เหมาะสมในแต่ละระดับ วันนี้พูดถึงเรื่องไผ่ มีจังหวัดไหนที่สภาฯ มียุทธศาสตร์ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีความคิดที่ตรงกัน เริ่มต้นจากปฏิบัติการเล็กๆ มีพื้นที่ไหนที่สร้างการมีส่วนร่วมในเชิงองค์กร ที่ไม่ใช่ปัจเจก มีพื้นที่ไหนมีส่วนร่วมกับอุทยานฯ

โดยมีข้อสรุปแนวทางความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติกับสภาองค์กรชุมชน 4 จังหวัด รอบเขตอุทยานฯ (สระบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี และนครราชสีมา)

เป้าหมาย : สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเสริมภารกิจระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับสภาองค์กรชุมชนตำบลรอบอุทยานฯ ใน 4 จังหวัด และส่งเสริมการจัดทำแผนการอนุรักษ์ฯ แผนความร่วมมือ ทั้งในระดับตำบล จังหวัด และเครือข่าย

แผนงาน :

1) สภาองค์กรชุมชนระดับตำบล สำรวจข้อมูลพื้นฐาน ทำผังตำบล พื้นที่รอบเขตอุทยานฯ หมู่บ้านไหนติดเขตอุทยานฯ

2) ภารกิจสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด ต้องกำหนดวาระการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการประชุม อย่างต่อเนื่อง และสังเคราะห์ข้อเสนอ แนวทางการพัฒนาเพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อจังหวัด

3) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 4 จังหวัด รอบเขตอุทยานฯ จะกลับไปสำรวจข้อมูล แมปปิ้งพื้นที่ เพื่อกำหนดแผนเพิ่มพื้นที่ป่า และร่วมสำรวจพื้นที่ที่จะปฏิบัติการร่วม และกำหนดพื้นที่ที่กฏหมายผ่อนปรนให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการ เป็นพื้นที่นำร่อง

4) กลไกคณะทำงาน 1) อุทยานแห่งชาติเข้าใหญ่ 2) มีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดละ 3 ท่าน 3) ทีมประสานงานจาก พอช. 3 ท่าน

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  1) จะมีบทบาทในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับสภาองค์กรชุมชน ในพื้นที่รอบเขตอุทยานฯ 3) สนับสนุนแผนงานและกิจกรรมที่ชุมชนเสนอ 4) ประสานนโยบายกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครนายก 1) สำรวจข้อมูลสภาองค์กรชุมชนที่อยู่ติดเขตอุทยานฯ 2) เชื่อมโยงการทำงาน กับอุทยานฯ ให้อุทยานเป็นวิทยากรให้ความรู้ 3) ทำแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงาน แผนการทำงานร่วม 4) วิธีการปฏิบัติ เมื่อมีสัตว์ใหญ่เข้าไปในพื้นที่ (ช้าง/ หมี) 5) พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบล 8 ตำบล รอบอุทยานฯ ตำบลเขาเพิ่ม อ.บ้านนา, ตำบลศรีกะอาง อ.บ้านนา, ตำบลพรหมมณี อ.เมือง, ตำบลเขาพระ อ.เมือง, ตำบลสาริกา อ.เมือง, ตำบลหินตั้ง อ.เมือง,  ตำบลหนองแสง อ.ปากพลี และตำบลนาหินลาด อ.ปากพลี

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี 1) พื้นที่ติดเขตอุทยานฯ ตำบลมิตรภาพ ตำบลหนองย่างเสือ ตำบลลำพระยากลาง อำเภอมวกเหล็ก 2) ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 3) จะจัดเวทีหารือกับแกนนำสภาองค์กรชุมชน

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดปราจีนบุรี (อุทยานฯ เขาใหญ่ และทับลาน) 1) ให้คนรู้จักการรักษา ดิน น้ำ ป่า 2) เพาะพันธุ์ไม้ เพาะพันธุ์กล้ายางนา เพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ปัญหาโลกร้อน 3) ปลูกต้นไม้ สร้างคาร์บอนเครดิต 4) อุทยานฯ ให้ความรู้ในการเพาะพันธุ์กล้าไม้ 4) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเชิงภูมินิเวศน์ สร้างพื้นที่กันชนรอบอุทยานฯ 5) การส่งเสริมในการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างป่าระดับครัวเรือน 5) ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 6) พื้นที่สภาองค์กรชุมชนติดเขตพื้นที่อุทยานฯ 12 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลบุพราหณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ ตำบลนาดี ตำบลสะพานหิน ตำบลสมิพนิธิตา ตำบลนนทรีย์ ตำบลควิตโนต ตำบลเนินหอม ตำบลดงขี้เหล็ก ตำบลหนองแสง ตำบลปุฝ้าย และตำบลโพธิ์งาม 7) เปิดรับสมัครอาสาสมัคร อส.อช.

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา (อุทยานฯ เขาใหญ่ และทับลาน) 1) เชิญหัวหน้าอุทยานฯ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดนครราชสีมา 2) พื้นที่สภาองค์กรชุมชนรอบเขตอต.วังหมี ต.ทยานฯ หมูสี ต.โปร่งตาลอง ต.สีมามงคล ต.ขนงพระ ต.พระยาเย็น ต.น้ำแดง ต.กลางดง ต.วังน้ำเขียว 3) ลงทำแผนกับสภาองค์กรชุมชน ถึงแนวทางความร่วมมือกับอุทยานฯ 4) เพิ่มพื้นที่ป่าไว้หลังบ้าน การอนุรักษ์พันธุกรรม พืชเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยตั้งเป้าหมายตำบลละ 50 คน ที่จะเข้ามาร่วม

ทั้งที่ประชุมจะกลับมาสังเคราะห์แผนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชสาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บริเวณรอบเขาใหญ่ 4 จังหวัด ปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

คนทำงานในแวดวงการพัฒนาที่อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง