X

ร้อนจัดกระทบนากุ้งเร่งจับกุ้งขายหนีตาย

ผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานีดิ้นหนีตาย  หลังเจอภาวะราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่องประกอบกับเจอภาวะอากาศร้อนจัดสภาพน้ำเปลี่ยนแปลง    กระทบต่อการเลี้ยงกุ้งบางรายต้องรีบจับขาย ล่าสุดสหกรณ์ลุ่มน้ำท่าทองเตรียมจัดงานวิชาการให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปปรับปรุงลดต้นทุน พร้อมส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ขึ้น ที่ได้ราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด

ที่โรมแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายโกศล หนูกลิ่น ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด พร้อมคณะกรรมการบริหารฯได้แถลงข่าวเตรียมจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า ภายใต้หัวข้อ ร่วมคิด ร่วมทำ ตอกย้ำความสำเร็จ Version 2 โดยเชิญนักวิชาการที่ชำนาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งชั้นนำทั่วประเทศ จากภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน มาให้ความรู้เสริมสร้างศักยภาพแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ภาคใต้   หลังประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดอุณภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงกุ้ง

ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัดกล่าวว่า สถานการณ์ราคา “กุ้งขาวแวนนาไม” ทั่วโลก รวมทั้งไทยได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยกุ้งที่จับขายในช่วงนี้เป็นผลผลิตกุ้งที่ออกมาพร้อมกันทำให้เกิดภาวะราคากุ้งตกต่ำที่มาเร็วกว่าทุกปี และราคาตลาดโลกยังลดลงต่อเนื่อง มาจากผลผลิตกุ้งที่เพิ่มขึ้นจากหลายประเทศ โดยเฉพาะ อินเดีย  เอกวาดอร์  และเวียดนาม  จนส่งผลกระทบต่อราคากุ้งขาวแวนนาไมของไทยไปด้วย

-ส่วนราคากุ้งวันนี้จะอยู่ที่  40 ตัว/กก.ราคา 180 บาท  50 ตัว /กก.ราคา 160 บาท 60 ตัว/กก.ราคา140 บาท 70 ตัว/กก. 130 บาท  80 ตัว/กก.ราคา 120 บาท  90 ตัว/กก.ราคา 105 บาท  100 ตัว/กก.ราคา 95 บาท  110 ตัว/กก.ราคา 85 บาท 120 ตัว/กก.ราคา75 บาท   โดยราคาที่เกษตรกรจะอยู่ได้และคุ้มทุนควรจะอยู่ที่ 60 ตัว /กก.ราคากิโลกรัมละ120 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งที่กำลังจะออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจึงทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งบางรายตัดสินใจชะลอการเลี้ยงออกไป เพราะไม่อยากเสี่ยงกับความผันผวนของราคา และเป็นเหตุทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งไทยปีนี้อาจจะไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 3.1 แสนตัน

ดังนั้นสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด จึงมีแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน ทางสหกรณ์ฯ จึงแนะนำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทั้ง ปัจจัยการผลิต อาหารกุ้ง  และพลังงานไฟฟ้า  ซึ่งเป็นต้นทุนการเลี้ยงที่สำคัญ  และขอให้วางแผนในการผลิตทำกุ้งไซส์ใหญ่มากขึ้น   เพราะได้ราคาดีและมีตลาดรองรับ  เนื่องจากกุ้งขนาดใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศน่าจะช่วยให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีกำลังใจกล้าลงทุนต่อและสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งต่อไปได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน