ผู้บริโภคไทยตั้งคำถามรัฐบาลตู่ จะเอายังไง กฏหมายตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 22 ปีแห่งการรอคอย ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหมดโอกาสเข้าถึงการใช้ยาประทังชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า ในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งเป็นวันผู้บริโภคไทย ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง และถามความจริงใจที่จะให้สิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ดูเหมือนว่าไม่ต้องการให้ พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ผ่านสภานิติบัญยญัติ (สนช.)ไปแล้วแแต่ไม่ดำเนินการต่อให้กฏหมายถูกประกาศใช้ ทำให้ผู้บริโภคในภาคเหนือใช้วันที่ 30 เมษายนปีนี้ซึ่งเป็นครับรอบ 22 ปีของการต่อสู้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคใน จ.พะเยาได้ออกแถลงการณ์ถามความจริงใจของรัฐบาล พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ว่า
“22 ปีแห่งการรอคอย……กฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ”
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2562
ณ สถาบันปวงผญาพยาว วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
ในประเทศไทย มีหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมากมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานกลางดูแลเรื่องฉลาก โฆษณา สัญญาทั่วไป และมีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น กรมการค้าภายใน ดูแลเรื่องราคาสินค้าและบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนหลักๆ คือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คอยเป็นปากเสียงรักษาประโยชน์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจ แต่ในฝั่งผู้บริโภค ยังไม่มีตัวแทนระดับประเทศที่เป็นทางการ แม้ว่าจะมีองค์กรผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมาย จึงทำให้เกิดแนวคิด ” องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ” ในประเทศไทย ถือกำเนิดและก่อร่างสร้างตัวขึ้นในยุค รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาตรา ๕๗ มีอำนาจในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
(๒) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยปัญหาผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้
(๓) รายงานการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
(๔) สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภค และส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่
(๕) สนับสนุนการศึกษาและและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
(๖) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาท เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล
(๗) ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค
(๘) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
ตลอด ๒๒ ปี ( พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๖๒ ) องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค ได้ร่วมต่อสู้ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัฐบาล ก็ยังคงเจตจำนงที่จะให้มีตัวแทนของผู้บริโภคในระดับประเทศ คอยเป็นปาก เป็นเสียงให้กับผู้บริโภค และมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐ และภาคธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าแม้จะมีกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่ออีกหลายอย่าง สภาผู้บริโภคจังหวัดพะเยา โดยมี นายต่วนกฤษ จันทนะ ประธานสภาผู้บริโภคจังหวัด และ นางสาวพวงทอง ว่องไว เลขาสภาฯ และคณะกรรมการสภาฯ ทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง และทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงทำให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตนเอง ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเองมากขึ้น ให้มีคุณภาพในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคในหน่วยงานต่างๆทั้งจังหวัดพะเยาและเชื่อมต่อสู่ระดับประเทศ
กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดแพร่ ได้ออกเคลื่อนไหวสร้างความตระหนักในการเป็นผู้บริโภคที่ต้องได้รับความเป็นธรรม ซึ่งพบว่ายังไม่มีผู้ใด แม้แต่ภาครัฐให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยารักษามะเร็ง ของนายโสภา ปาคำ ผู้ป่วยมะเร็งถุงน้ำดี ตับ ในระยะสุดท้ายถูกกีดกันการใช้ยาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นางสาวศรัณรัชต์ สายญาติ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค จ.แพร่ กล่าวว่า สิทธิของผู้บริโภคในจังหวัดแพร่ถูกระเมิดเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน การมีกฏหมายรองรับอย่างเป็นทางการจะทำให้ประชาชน สามารถพิทักษ์สิทธิประโยชน์ได้ ดีกว่าที่เป็นอยู่ ตั้งแต่คนปกติที่อยู่ในแวดวงของการบริโภค ผู้ป่วยเอสไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้พิการ ฯลฯ ยังคงต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่อไป
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากุล ผู้อำนวยการ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า วันที่ 30 เมษายนถือเป็นวันสำคัญของคนไทยคือคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยถือเป็นผู้บริโภคทุกคน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สนช.ได้ลงมติผ่านร่างกฏหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ชื่อว่า พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กำลังอยู่ระหว่างนำกฏหมายดังกล่าวทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฏหมายฉบับนี้ แต่ดูเหมือนว่ากฏหมายดังกกล่าวผ่านสภาแล้วเงียบหายไป ก็เลยไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดนี้เห็นความสำคัญหรือไม่อย่างไร หรือต้องใช้เวลานานออกไปอีกจนถึงรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฏหมายที่ภาคประชาชนร่วมกันผลักดันเป็นเวลานานมากผู้บริหารประเทศควรใส่ใจกับการต่อสู้เพื่อวิทธิของประชาชน นางสุภาพร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: