ราชบุรี ในวันนี้ ( 8 พ.ค. 62 ) นายจิตศักดิ์ อนุศาสนนันท์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานราชบุรี ได้เข้าตรวจสอบปริมาณน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของ จ.ราชบุรี เดิมเคยมีความจุเก็บกักได้ประมาณ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมามีการขุดลอกโดยหน่วยทหารในพื้นที่ สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์ รวมเป็น 37 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการพัฒนาสร้างฝายพับได้ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หล่อเลี้ยงพื้นที่หลายตำบลใน 3 อำเภอใช้น้ำด้านอุปโภค บริโภค ด้านการเกษตร และผลิตระบบน้ำประปา ได้แก่ อ.เมือง อ.ปากท่อ และ อ.จอมบึง หลังพบข้อมูลการส่งน้ำพบว่าปริมาณน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เกรงว่าอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของประชาชนใน 3 อำเภอ ทำให้โครงการชลประทานราชบุรีต้องเตรียมหาแนวทางเร่งแก้ไขปัญหา เติมปริมาณแหล่งน้ำเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่
โดยนายจิตศักดิ์ อนุศาสนนันท์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานราชบุรี เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างมีความจุประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 11 ล้าน 7 หมื่น ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่าประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าค่าต่ำสุดของน้ำในอ่างน้ำห้วยสำนักไม้เต็งจะอยู่ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการปล่อยน้ำช่วยเหลือพื้นที่มีหลายตำบล รวม 3 อำเภอ ได้แก่ ประกอบด้วย ต.น้ำพุ ต. ห้วยไผ่ ต.อ่างหิน ต.ดอนแร่ ต.อ่างทอง ต.คูบัว ต.ดอนโก ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง ส่วน พื้นที่ อ.ปากท่อ ได้แก่ ต.อ่างหิน ต.ทุ่งหลวง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเข้าระบบประปาภูมิภาค ที่ อ.จอมบึงผลิตน้ำประปาส่งไปยังให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์
สำหรับปริมาณน้ำที่อ่างได้เคยเก็บกักไว้ได้มีปริมาณ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาหน่วยทหารในพื้นที่เข้ามาดำเนินการขุดลอกได้ปริมาณน้ำเพิ่มอีกประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร รวม 37 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาทางโครงการชลประทานราชบุรีได้ก่อสร้างการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำ โดยได้สร้างฝายทดน้ำขึ้นมาอีก 1 ตัวเป็นฝายแบบพับได้อยู่บริเวณสปิลเวย์ ทำให้อ่างมีความจุน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม ประมาณ 45 ล้าน 5 แสน 6 หมื่นลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ฝนเกิดหมดก่อนยังไม่มีปริมาณน้ำเต็มความจุอ่าง ทำให้มีปริมาณน้ำมีอยู่ในอ่างได้ประมาณ 38 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทางโครงการชลประทานราชบุรี ได้ประสานไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ละพื้นที่ แต่ละอำเภอ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างประหยัด หลังระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือประสานถึงสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดประสานถึงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ให้ช่วยดำเนินการปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ราชบุรี โดยเฉพาะที่สำคัญจะมีอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กต่างๆในพื้นที่ ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการทำฝนเทียมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: