หลังจากพรรคเล็ก 11 พรรคการเมืองประกาศจับมือหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็แทบปิดโอกาสพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพันธมิตรไปก่อนหน้านั้น
คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศผล ส.ส. 498 คน ทั้งแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์ระบุว่า “ทุกคะแนนต้องมีค่า” ทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงทั่วประเทศ ต่ำกว่า 71,000 เสียง ได้เก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายขื่อ พรรคละ 1 คน จนครบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
ทั้ง 11 พรรค ประกอบไปด้วย พรรคไทยรักธรรม, พรรคพลังธรรมใหม่ , พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชานิยม, พรรคพลังชาติไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชาภิวัฒน์ และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่ไม่สามารถเอาชนะ ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ นั่นทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก อย่างพรรคอนาคตใหม่ สูญเสียคะแนนที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นเก้าอี้ ส.ส. กว่า 600,000 คะแนน
การประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ของบรรดาพรรคเล็ก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการรวบรวมคะแนนเสียงให้เกินกึ่งหนึ่ง ก็เท่ากับว่า “เกมแข่งตั้งรัฐบาล” ได้จบลงแล้ว โดยฝั่งสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนเสียงมากกว่าฝั่งพรรคเพื่อไทยค่อนข้างแน่นอน
หากรวม ส.ส. ฝั่งที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งหมด 253 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 115 เสียง , พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง , พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง , พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง , พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง , พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง , พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง , พรรครักษ์ผืนป่าไทย 2 เสียง และ พรรคเล็ก 11 พรรค พรรคละ 1 เสียง
ทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฏร นั่นคือเกินกึ่งหนึ่งหรือ 250 คน ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน และเมื่อมีการเปิดประชุมสภานัดแรก ภายใน 15 วันหลัง กกต. ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หากดูตามกรอบเวลาแล้วจะต้องมีการเปิดประชุมภายในวันที่ 23 พฤษภาคม นี้
ส่วนอีกฝั่งที่ประกาศตั้งรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ มีแกนนำหลักอย่างพรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ ที่มี 245 เสียง ตกมาเป็นฝ่ายค้านทันที ซึ่งหนึ่งในพรรคที่คาดว่าจะร่วมกับพรรคเพื่อไทย อย่างพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค วันนี้(13 พ.ค. 62) นายมิ่งขวัญ พร้อม ส.ส. ของพรรคฯ เข้ามารายงานตัวต่อ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร อาคารรัฐสภาหลังใหม่ เกียกกาย เวลาประมาณ 10.30 น. และเดินหลบสื่อมวลขน อ้อมออกไปทางด้านหลังของอาคาร ในช่วงเวลา 12.00 น. ซึ่งมีกระแสข่าวว่า นายมิ่งขวัญ อาจเปลี่ยนข้างมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์
จากดูท่าทีหลายพรรคที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทย พอมาถึงวันนี้ไม่แน่นว่าอาจเปลี่ยนใจมาอยู่กับฝั่งที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะรู้และติดตามดูว่าจะให้เหตุผลกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามถึง “การยับยั้งการสืบทอดอำนายของ คสช. จะสามารถทำได้หรือไม่ หากเป็นฝ่ายค้าน ?” กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะพา ส.ส.ใหม่ ของพรรค 80 คนมารายงานตัว ที่รัฐสภาหลังใหม่ ซึ่งนายธนาธรตอบเพียงสั้นๆว่า ถึงเป็นฝ่ายค้านก็สามารถทำได้
จับตาเส้นทางจัดตั้งรัฐบาล
– 15 พ.ค. พรรคประชาธิปัตย์เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ และ อาจประกาศจุดยืน
– ก่อนวันที่ 23 พ.ค. อาจมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล
– ภายในวันที่ 23 พ.ค. จะมีการเปิดประชุมสภานัดแรก
– หลังวันที่ 23 พ.ค. จะมีการเลือกประธานและรองฯสภา รวมถึงมีการเลือกนายกรัฐมนตรี
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ในวันพุธที่ 15 พฤษภาคมนี้ หลังจากการลาออกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อรับผิดชอบที่ทำให้พรรคฯ ไม่สามารถได้ที่นั่ง ส.ส. ตามเป้าหมายที่คาดไว้ ซึ่งเมื่อได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ และเมื่อได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ จะมีการประชุมภายในพรรคเพื่อโหวตท่าทีทางการเมืองของพรรค และคาดว่าพรรคจะมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยวันนี้(13 พ.ค. 62)ผู้สื่อข่าวถาม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ แคนดิเดตลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ “จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่หากได้เป็นหัวหน้าพรรค ?” นายพีระพันธุ์ ระบุว่า เป็นเรื่องของอนาคต ไม่สามารถบอกหรือตัดสินใจได้ ต้องเป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น
สำหรับเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 253 เสียง จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เพราะเมื่อเปิดประชุมสภาแล้วจะมีการเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฏรและร้องประธาน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อมีการโหวตร่างกฏหมายต่างๆ ประธานฯและรองประธาน จะงดออกเสียง นั่นทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาลดลงไปแล้วอย่างน้อย 2 เสียง ซึ่งยังไม่รวมตำแหน่งรัฐมนตรีของ ส.ส. ภายในรัฐบาล ที่ไม่สามารถประชุมสภาได้ครบทุกครั้งที่มีการโหวตผ่านร่างกฏหมายต่างๆ แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ พรรคพลังประชารัฐเป็นกังวลนัก เพราะไม่ว่าอย่างไรฝ่ายตรงข้ามก็ไม่สามารถรวมเสียงได้มากกว่าฝั่งพลังประชารัฐอยู่แล้ว และเมื่อรวมกับ ส.ว. หากฝั่งตรงข้ามไม่สามารถรวมกันได้ 376 เสียง อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งภายหลังการประกาศจุดยืนของ 11 พรรคการเมืองวันนี้(13 พ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาาธิการพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏตัวเข้ามารับมอบหนังสือฉันทามติของทั้ง 11 พรรคการเมือง และกล่าวทิ้งท้ายตอนหนี่งระบุว่า “..เรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรภูมิใจไทยจะเข้าร่วมกับพรรคฯหรือไม่นั้น ตนเองต้องรอมติการตัดสินใจของ 2 พรรคดังกล่าว…การเข้าร่วมของ 11 พรรค ไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นการเข้าร่วมกันเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศเท่านั้น”
สำหรับ ส.ส. อีก 2 ตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ นั่นคือ ส.ส. เขต 1 ตำแหน่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 ตำแหน่ง จากการที่ กกต. มีมติให้ใบส้มพรรคเพื่อไทย และให้เลือกตั้งใหม่ในเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นฝ่ายได้คะแนนไป ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลจนพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะหากฝั่งพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ในเขต 8 ก็จะทำให้ ฝั่งเพื่อไทยที่ไม่สามารถส่ง ส.ส.ลงในเขตนั้นได้ มีคะแนนเสียงรวมเพิ่มขึ้นเป็น 246 เสียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: