หน้าฝนปีนี้มาช้ากว่ากำหนดปกติ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้ ฝนจะมาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. ล่าช้ากว่าทุกปีที่ประเทศไทยจะเข้าฤดูฝน ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ฝนจะมาช้าหรือเร็วหน้าที่ชาวนาก็ต้องเตรียมการหว่านไถ
ยิ่งจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง(พันธุ์ลูกผสม) ตอนนี้ชาวนาน้ำฝนไม่ใช่จะเครียดเพราะฝนมาช้าอย่างเดียว ต้นทุนการผลิตที่ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐบาลมุ่งแต่นโยบายผลิตข้าวเพื่อส่งออกจนลืมเกษตรกรที่ปลูกข้าวแบบ “เหลือกินแบ่งขาย” หรือกลุ่มที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ต้องกลายเป็นลูกพ่วงพ่อค้าข้าวส่งออกแบบกระดิกตัวไม่ได้
รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ กำลังสาระวนกับการแก้ปัญหาข้าวสวมตอ ข้าวหอมพวง หรือจัสมิน 85 ของเวียดนาม ดาวรุ่งพุ่งแรงเบียดหอมมะลิข้าวชั้นพรีเมี่ยมของไทยในตลาดโลก บวกกับแรงโปรโมทของพ่อค้าส่งออกที่ให้ประกันเรื่องราคาข้าวเปลือก ข้าวขาว 5% ของไทยทั่วไปถึงตันละ 1,000-1,500 บาท เป็นแรงส่งสร้างแรงจูงใจกับชาวนาในภาวะที่ราคาข้าวยังต้วมเตี้ยมแต่หมื่นบาท จึงแห่ไปลองของใหม่ ปลูกหอมพวงเวียดนาม
พ.ร.บ.ข้าวฯของไทยเอาเข้าจริงก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เมื่อชาวนาภาคกลางแห่ปลูกหอมพวง พันธุ์ข้าวที่ซื้อมาปลูกถ้ามีคนบอกว่าเป็นของแท้แพงแค่ไหนก็ซื้อ แม้กระทั่งพ่อค้าหัวใสที่เลี่ยงกฎหมายพันธุ์ข้าว ข้างกระสอบเมล็ดพันธุ์ พิมพ์คำว่า เป็น “ข้าวนก-ข้าวไก่” ก็ยังมีคนซื้อไปปลูก แต่ทางราชการก็ทำไม่สามารถจับกุมฐานปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปนได้
แต่กับชาวนาในประเทศไทย ใครผลิตพันธุ์ข้าวแม้แต่ทำเพื่อปลูกเอง หรือแบ่งขายกันในหมู่ชาวนาด้วยกันที่เขายอมรับกันในเครือข่ายว่าว่าเป็นพันธ์ที่คัดระดับ A,B,C ก็จ้องจะเอาเป็นเอาตาย ถึงขั้นออกพ.ร.บ.มาคุมเข้ม แต่เจอแรงต้านจนต้องถอยก่อนเลือกตั้งแบบเฉียดฉิว
วันนี้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน หลังเสร็จจากไถดะ รอฝนนัดคุยกันที่ จ. มหาสารคาม ปัญหาใหญ่ที่ต้องรับทุกข์กัน ก็เรื่องพันธุ์ข้าวนี่หละครับ โดยเฉพาะชาวนาย่านทุ่งกุลาร้องไห้ที่เคยซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ก.ก.ละ 20-25 บาท ตอนนี้ถีบตัวขึ้นถึง ก.ก.ละ 30 -35 บาท
คนซื้อข้าวสารกินไม่เคยทำนา จะไม่ค่อยรู้สึกเรื่องปัญหาของชาวนากับพันธุ์ข้าวเท่าไหร่ ข้าวกับทุเรียนต่างกันตรงที่ข้าวต้องซื้อพันธุ์ทุกครั้งของการปลูก ทุเรียนซื้อทีเดียวปลูกแล้วเก็บผลผลิต 40-50 ปี สำหรับนาหว่านต่อไร่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 20-30 ก.ก.ถ้า ก.ก.ละ 30- 35 บาท ก็ตกไร่ละ 700-800 บาท ที่เกษตรกรต้องซื้อมาปลูกทั่วปรเทศประมาณปีละ 8 แสนตัน( แปดแสนตัน) แต่กรมการข้าวที่มีศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ทั่วประเทศ 23 แห่งผลิตพันธุ์ข้าวได้ปีละ 4 แสนตัน
ชาวนาไทยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมูลค่าประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท แต่กรมการข้าวที่ผูกขาดการผลิตเมล็ดพันธุ์ฯ ผลิตได้แค่ครึ่งเดียว ที่เหลือมูลค่า 1,200 ล้านบาทต่อปี มาจากไหน หรือใช้วิธีพิมพ์ข้าวกระสอบว่า “ช้าวไก่-ข้าวนก”แล้วก็กางกฎหมายว่าไม่เข้าข่ายความผิดก็ปล่อยไป รวมอยู่ในตัวเลขนี้ด้วย ?
เท่าที่รับฟังจากชาวนาภาคอีสานที่มาคุยกัน ปีนี้เมล็ดพันธุ์ขาดแคลนครับ สาเหตุจากปีที่ผ่านมาข้าวราคาไม่ดี แถมนโยบายรัฐบาลยังแบบกั๊ก ๆ เดินไม่สุด รัฐมนตรีบางคนลุยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่รัฐมนตรีเบอร์ใหญ่กว่ามุ่งส่งออก เกษตรกรก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ (แบบผิดกฎหมาย) ไว้ใช้เอง จนสุดท้ายฝนกำลังจะมาก็ต้องสาละวนกับการวิ่งหาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว แพงแค่ไหนก็ต้องซื้อ
รัฐบาลคิดเรื่องเที่ยวเมืองรองได้ ทำไมไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องข้าวไทยที่หลากหลาย ทำไมไม่ส่งเสริมโปรโมท เรื่องการกินข้าวทางเลือกที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่นไปย่านทุ่งกุลาร้องไห้ต้องกินข้าวหอมมะลิ ไปเมืองเลย- น้ำหนาว เพชรบูรณ์ กินข้าวพะยาลืมแกง ไปกาฬสินธุ์ลองปั้นจิ้มข้าวเหนียวเขี้ยวงู ไปภาคใต้ต้องไม่พลาดกินข้าวสังข์หยด ฯลฯ
รัฐบาลทุกยุคก็มัวแต่โปรโมทส่งออก พูดแต่เรื่องราคาข้าว จนลืมอีกเกือบครึ่งของชาวนาทั่วประเทศที่ยังคงวิถีเหลือกินแบ่งขาย และบางส่วนก็พยายามอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทย แต่มรดกโบราณเหล่านี้ไม่ถูกตีเป็นราคา ไม่อยู่ในทำเนียบราคาข้าวทางการ..
นโยบายเรื่องข้าวต้องชัดเจนมัวแต่เพ่งตัวเลขส่งออกแค่เจอข้าวหอมพวงเวียดนาม มาเขย่าข้าวหอมมะลิ ก็สั่นสะท้านทั้งที่เมืองไทยเรามีดีกว่าเยอะ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: