X
รถรางเขาค้อ

พิษ “เกียร์ว่าง”จัดระเบียบรถรางเขาค้อสะดุด

ทุกเช้าวันพุธ ผู้ว่าฯสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ต้องนั่งหัวโต๊ะประชุมวาระเช้า มอร์นิ่งบีฟ ประจำสัปดาห์ พุธนี้ ยังเป็นเรื่องร้อน การแก้ปัญการจัดระเบียบรถรางเข้าค้อ ที่ให้การบ้านในการจัดระเบียบรถรางเขาค้อมาแล้ว 4 เดือนแต่ไม่คืบ หลังสัปดาห์ก่อนก็ถกเครียดเรื่องการพิสูจน์สิทธิ เพื่อขอคืนดินเขาค้อพื้นที่ 1.2 แสนไร่ ที่คาราซังมานาน

การท่องเที่ยวเพชรบูรณ์บูมโดยเฉพาะเขาค้อที่กลายเป็นทำเลทองไปแล้ว เอาเฉพาะธุรกิจรถราง หรือเรียกกันว่า ฟอร์มูลาดอย วิ่งนำเที่ยวในบริเวณที่ตั้งทุ่งกังหันลม ที่มีเสากังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า 24 ต้น ในพื้นที่ 350 ไร่ บริเวณตำบลทุ่งสมอ อ.เขาค้อ กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหม่ ที่ประเมินว่าแค่ช่วงไฮซีชั่น 3 เดือน ช่วงปลาย พ.ย.-ก.พ. ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ขึ้นไปเที่ยวและต้องใช้บริการรถราง(แบบผูดขาด) ต่อฤดูกาลท่องเที่ยวคิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาทเลยทีเดียว

บ้านเพชรดำ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ เมื่อ10 กว่าปีก่อน ที่ผมเคยแวะไปนั่งจิบกาแฟช่วงบ่าย ๆ ใกล้เวลาโรงเรียนเลิก บรรยากาศช่วงเลิกเรียนดูตืนตาตื่นใจ หาดูที่ไหนยาก เด็กนักเรียนชาวลีซอ มักจะเดินกลับบ้านกันเป็นกลุ่ม ๆ เขาเดินแบบปิดถนน ไม่สนใจรถรา เป็นวิถีชีวิตที่หาดูได้ยาก

เมื่อบริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้า มาตั้งกังหันลมบนที่เนินที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ขิง หลังหมู่บ้าน ก็กลายเป็นจุดแลนด์มาร์กอีกแห่งของเขาค้อ ที่นักท่องเที่ยวแวะมาชมวิวกังหันลม และทัศนียภาพที่สวยงามของเนินเขา โดยการนั่งรถราง วิ่งผ่านจุดไหนก็แวะถ่ายรูปที่เน้นๆ ก็จะเป็นทุ่งดอกไม้ที่มีกังหันลมบนเนินเขาอยู่เบื้องหลัง

ตอนนี้หมู่บ้านเพชรดำ ที่เป็นทางขึ้นไปทุ่งกังหันลม กลายเป็นท่ารถราง (ที่ความจริงก็คือรถล้อยาง วิ่งบนถนน) ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ห้องน้ำให้เช่า และสถานที่จอดรถของนักท่องเที่ยว

รถรางเที่ยวชมทุ่งกังหันลมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึง ณ เวลานี้ มีไม่ต่ำกว่า 30 คัน ถ้าใครจะขึ้นไปกินลม ชมวิว ถ่ายรูปกับกังหันลม ต้องนำรถมาจอดที่บ้านเพชรดำ จ่ายค่าจอดคันละ 20 บาท เข้าห้องน้ำต้องจ่าย ค่าโดยสารคิดหัวละ 60 บาท(เดิมคนละ 40 บาท) ต่อเที่ยว 30 นาที ต่อคันที่รับผู้โดยสารได้ 10 คน ก็ตกไปเที่ยวละ 600 บาท  เริ่มวิ่งเที่ยวแรกเพื่อขึ้นไปสัมผัสไอหมอกตั้งแต่เวลา 06.00น.จนถึง ชมพระอาทิตย์ตกดิน เวลา 18.00 น.เป็นเที่ยวสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง แต่ละคันถ้าวิ่งเต็มที่ตามเวลาก็จะตกวันละไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยว

เฉพาะรายได้จากค่าโดยสารต่อวันต่อคันช่วงไฮซีชั่น ที่เต็มออก ตกถึงวันละ 1.2 แสนต่อวันต่อคัน เอา 30 คูน ก็จะตกวันละ 3.6  ล้าน  คิดไป 90 วัน มูลค่าสูงถึง 32 ล้าน

นี่แค่ค่าโดยสาร ยังไม่นับรวมค่าที่จอดรถ หรือการเก็บเพิ่มยิบย่อยรายทางตามจุดแวะพักที่เป็นร้านกาแฟ ไร่สตอเบอรี่ ที่มีนายทุน เข้าไปสร้างรองรับลูกค้า จนมีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่บางเที่ยวรถรางก็จอดแช่จนกินเวลาต่อเที่ยว

รถรางนำเที่ยวเป็นธุรกิจที่ง่ายและเงินดีลงทุนคันละ 6 แสนบาท วิ่งไม่กี่วันก็ได้ทุนคืน แต่ด้วยความที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ป่าไม้ และต้องเข้าไปในเขตทุ่งกังหันลมของบริษัทเอกชนที่เช่าพื้นที่จากป่าไม้ และจ่ายค่ารบกวนสิทธิกับผู้ครอบครองทำกิน เพื่อให้ดูดีก็จดเป็น “วิสาหกิจชุมชน” จนขณะนี้มีวิสาหกิจชุมชนให้บริการรถรางกับนักท่องเที่ยวในทุ่งกังหันลมแล้ว 7-8 วิสาหกิจ

และเสียงปืนนักแรกที่คาดว่ามาจากการขัดผลประโยชน์การวิ่งรถรางก็ดังขึ้นเมื่อ10 ก.พ.2562 แกนนำที่ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมเพชรบูรณ์เรื่องการจัดการของวิสาหกิจฯ ประโยชน์ไม่ตกถึงสมาชิก จนผู้ว่าฯ สืบศักดิ์ นำเข้าที่ประชุมเมื่อเดือน ม.ค.2562 และสั่งการให้จัดระเบียบรถรางเขาค้อ ภายใน 4 เดือน และต่อมาคนร้องเรียนถูกยิง

เป็น 4 เดือนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดระเบียบแทบไม่มีอะไรคืบหน้า จนเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯสืบศักดิ์ ต้องแอคชั่นเอง โดยให้ ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์เข้ามาจัดการ เพื่อทำการรวบวิสาหกิจที่จดทะเบียนวิ่งรถราง 7-8 แห่งป็นวิสาหกิจเดียว ร่างระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิก

หากไปดูเอกสารการร้องเรียนของชาวบ้านช่วงต้นปี 2562 ก็จะเห็นชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจรถรางที่เป็นผู้นำชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนมีสีแทบทั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การจัดระเบียบไม่คืบหน้า

ตัวเลขมันล่อใจและก็ใกล้จะเข้าหน้าเทศกาลท่องเที่ยวแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถรางก็ยิ่งโตวันโตคืนดูแนวโน้มการจัดระเบียบรถรางเขาค้อยังเป็นเรื่องยาก ปัญหาใหญ่คือ ผู้เกี่ยวข้อง “เกียร์ว่าง”

ศึก 2 ด้านของผู้ว่าฯ สืบศักดิ์ ทั้งเรื่องพิสูจน์สิทธิที่ดินเขาค้อ 1.2 แสนไร่ ที่ต้องขัดแย้งกับบุคคลระดับบิ๊กๆ แทบทุกวงการร่วมพันรายที่เป็นเจ้าของรีสอร์ท บ้านพักในทำเลหรู ยังต้องวิ่งสู้ฟัดกับเรื่องจัดระเบียบรถราง ที่ดูว่าง่ายกว่า…แต่กลับไปไม่ถึงไหน

ก็ได้แต่ให้กำลังใจครับ.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์