เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย.60 นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) กล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อย เรื่อง “การสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล”ภายใต้โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลและเครือข่าย เพื่อการบริหารน้ำบาดาลอย่างยั่งยืนเป็นรายแอ่ง พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ห้องประชุมโรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมือง จ.ราชบุรี มีภาคีเครือข่ายทั้งประชาชน ภาครัฐ ท้องถิ่น นักเรียน และกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการได้แก่ ผู้ใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม บริการและท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียนในพื้นที่ กว่า 100 คน จาก 10 อำเภอ มาเข้าร่วมประชุม
สำหรับแอ่งน้ำบาดาลเจ้าพระยาตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี นครนายก อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี สระบุรี และอุทัยธานี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้ในอัตราสูงขึ้น และบางพื้นที่ยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
โดย ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลและเครือข่าย เพื่อการบริหารน้ำบาดาลอย่างยั่งยืนเป็นรายแอ่ง พื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สนับสนุนงบประมาณมาร่วมมือกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในการทำโครงการพัฒนาการจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบของเครือข่าย ใช้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นคนช่วยบริหารจัดการน้ำบาดาล เป้าหมายหลักอยากได้ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน โดยชุมชนที่จะร่วมกันคิด ช่วยกันทำ อนาคตคล้ายแผนปฏิบัติการที่จะร่วมกันทำสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ด้าน นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ( ราชบุรี ) เปิดเผยว่า ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เล็งเห็นความสำคัญของเครือข่าย โดยการใช้น้ำบาดาลเป็นการใช้น้ำเชิงบวก และหากใช้ไม่ดีจะมีผลในเชิงลบ หากใช้มากเกินไปจะมีการรุกคืบของน้ำทะเลเข้ามา ในบางพื้นที่เมื่อมีการใช้น้ำบาดาลมากเกินไปอาจจะเกิดแผ่นดินทรุดได้ ถ้ามีการใช้น้ำบาดาลในปริมาณที่เกินสมดุล น้ำทะเลรุกคืบเข้ามา โอกาสที่จะทำให้รื้อฟื้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ยากมาก และต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ดังนั้นการเฝ้าระวังแบบเครือข่ายจะเป็นมิติที่สำคัญที่จะให้มีการบริหารจัดการใช้น้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์ และยั่งยืนตลอดไป จึงร่วมมือกับคณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เครือข่ายอนุรักษ์น้ำบาดาลของประเทศ เพื่อมีมิติว่าจะทำอย่างไรหากมองภาพรวมที่จะทำยุทธศาสตร์ออกมาอย่างไร ลักษณะเป็นโครงการเป็นแผนปฏิบัติการในแนวมิติ ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน มีรูปแบบของเชิงปฏิบัติการที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และเครือข่ายนั้นจะมีรูปแบบในทางดำเนินการเป็นอย่างไร
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตามการจัดประชุมครั้งนี้มีกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความรู้ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกับเครือข่ายภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำบาดาล กฎหมายที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำบาดาล และกิจกรรมระดมสมอง เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: