X

ซ่อมเพนียดคล้องช้าง กรมศิลป์เล่นเกมเสี่ยง

วันนี้ชาวชุมชนสวนพริก พระนครศรีอยุธยา ออกอาการเดือดดานอย่างหนักรวมตัวกันไปที่บริเวณที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากำลังทำการซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง ที่ชาวบ้านเห็นว่าทำผิดจากรูปแบบเดิมที่เคยเห็นมาตั้งแต่โบราณหลายชั่วอายุคนของชาวกรุงเก่า

อุทยานฯใช้งบประมาณซ่อมแซมเพนียดคล้องช้างที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท งานหลัก ๆ คือซ่อมแซมพลับพลาที่ประทับ เชิงเทิน หอพระพิฆเนศ ประตูโตงเตง เสาตะลุงด้านใน และเสาตะลุงปีกกาด้านนอก ที่ใกล้แล้วเสร็จ

แต่ที่เตะตาชาวบ้านว่ามันไม่เหมือนเดิมก็คือ “เสาตะลุง” ที่เดิมจะมีหัวมัณท์ หรือหัวบัว บริเวณปลาย แต่แบบใหม่ที่กำลังทำเสาตะลุงตัดแบบห้วนๆ แต่เกลาเสาตัดหัวตัดท้ายเสียบลงไปแทนของเดิม

ชาวบ้านบางคนถึงกับพูดว่า นี่มันเพนียดคล้องช้าง หรือคอกวัว คอกควายกันแน่?

คำตอบจาก ผอ,สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สุกัญญา เบาเนิด บอกกับชาวบ้านนี่ยิ่งเห็นประเด็นที่ไปคนละมุมกับชาวบ้านที่เขาไม้ได้มองเพนียดคล้องช้างเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพกราบไหว้ อยู่คู่เมืองมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ์ที่ทรงย้ายเพนียดคล้องช้างมาไว้ที่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน นั่นเท่ากับว่าสร้างมาแล้วประมาณ 400 ปี

ผอ.สุกัญญา อธิบายว่า เสาตะลุงใหม่ที่ผู้รับเหมากำลังจัดทำและซ่อมแซมเป็นไปตามแบบเสาตะลุงที่น่าจะเป็นภาพถ่ายชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ โดยตามภาพถ่ายที่เป็นเสาตะลุงปีกกาเสาตะลุงไม่มีหัว จึงได้ทำการซ่อมแซมตามหลักฐานที่พบ

เมื่อฟังเหตุผลดังนี้ ผมก็เลยลองค้นภาพเก่าๆ ที่ว่าบังเอิญไปเจอภาพถ่ายเก่า ๆ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชพิธีคล้องช้าง

 

ตามภาพงานพระราชพิธีคล้องช้าง สมัยรัชกาลที่ 5 ด้านหลังเป็นพระที่นั่งคชประเวศมหาปราสาท  ดูตามภาพก็เห็นชัดๆ ว่าเสาตะลุงปีกกาที่อยู่ด้านนอกที่ล้อมเป็นวงเพื่อต้อนช้างเช้ามาแล้วคล้องเอาช้างที่มีลักษณะดีนั้นเสาทุกต้นมี”หัวมัณฑ์” หรือ “หัวบัว” หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ”หัวตะลุง” ทั้งนั้น

ไม่ต้องคิดให้ลึกอะไรมากมายครับ สำหรับการปักเสากลางแจ้งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านทั่วไปส่วนปลายของเสาต้องไม่ป้าน หรือตัดตรงเพราะน้ำจะขังทำให้ไม้ผุเร็วจึงทำให้ปลายกลมหรือทำเป็นยอดแหลมเพื่อน้ำไหลผ่านไม่ซึมเนื้อไม้

เสาตะลุงที่ปักกลางลานและยึดกันเป็นแนวทุกต้น ที่ต้องมีหัวความจำเป็นด้านหนึ่งก็คือเวลาคล้องช้างในวงล้อมของเสาตะลุงได้เสร็จควาญช้างก็จะโยงเชือกมาที่เสาตะลุงพันเสาแล้วดึงเป็นการกำราบช้างให้อยู่หมัด ถ้าปลายเสาไม่มีหัว หรือขยักกันเชือกหลุดนี่อันตราย

ผมคุย ดร.จิระพันธ์ พิมพ์พันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วรู้สึกได้เลยว่าส่วนที่รับผิดชอบอุทยานประวัติศาสตร์กับคนท้องถิ่นมองคนละมุม “ชาวบ้านที่นี่มองเพนียดคล้องช้างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ่านไปมาก็ต้องยกมือไหว้ เพราะถือว่าเพนียดคล้องช้างเกี่ยวพันกับช้างที่เป็นสัตว์คู่กับกษัตริย์ คู่บ้านคู่เมือง อะไรที่เกี่ยวกับช้างก็ต้องมีพิธีกรรม มีการบวงสรวงที่ทำกันมาแต่โบราณ”

ดร.จิระพันธ์ บอกว่าคนอยุธยา ไม่ใช่เฉพาะชาวชุมชนสวนพริกที่อยู่ใกล้เพนียดคล้องช้างเท่านั้นที่เกิดมาก็เห็นเสาตะลุงมีหัวทั้งนั้น ซ่อมแซมมาตั้งแต่ปี 2500 รวม 3 ครั้ง ทุกครั้งการซ่อมเสาตะลุงก็มีหัวเหมือนรูปแบบเดิม

“ไม่รู้เอาหลักฐานอะไรมาอ้างว่าเสาตะลุงไม่มีหัว แต่คนอยุธยาเห็นเสาเพนียดมีหัวมาตลอด ถ้าจะคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็ทำไป แต่นี่มันเป็นความเชื่อ มันเป็นคุณค่าทางจิตใจ มันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีคำอธิบายในตัวเองมายาวนาน”

คนสร้างก็สร้างไป คนคัดค้านก็คัดค้าน และก็มักจะมีเหตุผลทั้งสองฝ่าย แต่อย่าลืมว่ากรมศิลปากรกำลังซ่อมแซมสถานที่ที่เป็นมรดกโลก มรดกทางวัฒนธรรมของไทย แค่ เสาจะลุงที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย ทำไมเหตุผลของกรมศิลป์ฯ ถึงอธิบายได้เพียง “เห็นรูปถ่ายเก่าแล้วเอามาเป็นแบบ”

อย่าคิดว่าแค่หัวเสาหายไปจะเป็นเรื่องเล็กนะครับ เพราะเรื่อง “หัวเสา” นี่เป็นอะไรที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ๆ แค่บ้านคนธรรมดา แทบทุกบ้านตรงราวบันไดเสาสุดท้ายก็ต้องมีหัวกลม หรือหัวเหลี่ยมทั้งนั้น

เพนียดคล้องช้างเป็นของสูง และภูมิปัญญาคนโบราณที่กว่าจะบากหัวเสาตะลุงเป็นหัวมัณฑ์หรือหัวบัวได้ ก็คงผ่านประสบการณ์อะไรมาเยอะแล้ว

ศิลปะวิทยาการที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้ที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณสถาน  โบราณวัตถุอันทรงคุณค่าก็ควรจะสืบทอดกันต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์