อิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าทะลักท่วมนาหว่านจมน้ำระดับสูงกว่า 30 เซนติเมตร ได้รับผลกระทบกว่า 200 ไร่ ชาวนาต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่หว่านไว้เน่าเสียหาย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จากการติดตามสภาพอากาศ ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว พบว่าพื้นที่นาข้าวที่ จ.กาฬสินธุ์ในพื้นที่ลุ่ม กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมช่วง 2 วันนี้ โดยเฉพาะแปลงข้าวนาหว่านของเกษตรกร ในเขต ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้รับผลกระทบ น้ำป่าทะลักเข้าท่วมและแช่ขังเป็นบริเวณกว้าง กว่า 200 ไร่
นายสายทอง อุทัยดา อายุ 63 ปี ชาวนาบ้านโคกใหญ่ หมู่ 1 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปริมาณฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดน้ำป่าและน้ำที่ไหลจากหมู่บ้านทะลักท่วมนาข้าวที่เพิ่งทำการหว่าน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร ตนและเพื่อนชาวนาต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำที่ท่วมขังออก เพราะหากสูบออกไม่ทันหรือถูกน้ำท่วมขังนาน ก็จะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านไว้เน่าเสียหายได้
นายสายทอง กล่าวอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมแปลงนาดังกล่าว เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาที่ทำนาหว่าน ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากฝนที่ตกชุก จึงเกิดการสะสมของน้ำฝนที่ขังอยู่ตามรางระบายน้ำ และดินเกิดการอิ่มตัว รวมทั้งลำรางสาธารณะและทางน้ำธรรมชาติเกิดการตื้นเขิน พอมีฝนตกหนักติดต่อกันทำให้น้ำระบายไม่ทัน จึงเกิดภาวะน้ำท่วมขังดังกล่าว ชาวนาต้องพึ่งตนเองด้วยการหาเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งและเร่งสูบออกจากแปลงนา และต้องสูบติดต่อกันนานตลอดวันยันคืน เพื่อระบายน้ำออกให้หมด และต้องพากันนอนเฝ้าเครื่องสูบน้ำกันเลยทีเดียว เนื่องจากกลัวถูกมิจฉาชีพมาลักขโมยเครื่องสูบน้ำ ที่จะทำให้ชาวนาเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้จากข้อมูลสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ พบว่า จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ช่วงตลอดสัปดาห์นี้ เกิดร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ต่อไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะฝนตกติดต่อกันถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ก่อนที่สภาพอากาศจะกลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 มีแนวโน้มปริมาณฝนจะตกลงมาน้อย เกษตรกร ชาวนา ชาวประมง จะต้องเตรียมวางแผนการรับมือ ป้องกันความเสียหายต่อผลผลิต โดยกักเก็บน้ำไว้ใช้และหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ซึ่งหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป คาดว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ และพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง สำหรับชาวนา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมขัง และเพิ่มทุนการผลิตทำนา ที่ต้องซื้อเครื่องสูบน้ำ ซื้อน้ำมัน และซื้อเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกอีก ในพื้นที่ราบลุ่มไม่ควรทำนาหว่าน เพราะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมขังข้าวเน่าเสียหาย ฤดูฝนจึงควรจะทำนาแบบข้าวนาดำ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะปลอดภัยจากน้ำท่วมกว่าทำนาหว่าน
ข่าวน่าสนใจ:
- บุรีรัมย์ ปล่อยแถวระดมกวาดล้าง ตรวจค้น ยาเสพติด ก่อนปีใหม่
- บุกค้นอู่ สจ อุ๊ คนสนิทโกทร หาหลักฐานเกี่ยวโยงคดียิง สจ โต้ง
- "ตรังโมเดล" โกโก้สร้างรายได้ให้เกษตรกร กิโลกรัมละ 8 บาท ภาคเกษตร-เอกชนร่วมมือเปิดจุดรับซื้อ 11 แห่ง
- สงขลา"นายกเเบน"ลงชิง นายก อบจ.สงขลา รวม 3 ทีมเป็นหนึ่งเดียว ชู 10 นโยบายเร่งด่วนทำได้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: