พระนครศรีอยุธยา-อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกโรงเรียกร้องให้ศิลปากรคืนหัวเสาตะลุงให้กับเพนียด เชื่อมีเหตุต้องตัดอ้างภาพเก่าเพนียดไม่สมบูรณ์ ขณะที่ดำรง พุฒตาล อดีตสว.ยันทำประชาพิจารณจะร่วมค้าน
ความคืบหน้ากรณีอุทยานประวัติศาสตร์พร ะนครศรีอยุธยา ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบูรณะซ่อมแซมเสาตะลุง เนื่องจากชาวบ้านไม่พอใจการตัดหัวเสาตะลุงด้านนอกหรือด้านปีกกาออก โดยมีการเรียกร้องให้ทำเสาตะลุงให้เหมือนเดิม ซึ่งนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าการซ่อมแซม และจุดที่เกิดปัญหาแล้ว โดยยืนยันว่ากรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมตามหลักฐานภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พบเป็นภาพที่ชาวต่างชาติถ่ายได้ เห็นว่าเสาตะลุงด้านนอกส่วนของปีกกาไม่มีหัวเสา เป็นเสาหัวตัด แต่ก็ยินดีรับฟังชาวบ้านหากมีเอกสารหลักฐานที่เก่ากว่า และยืนยันว่ามีหัวเสาตะลุงก่อนหน้านั้น ตามที่เสนอข่าวต่อเนื่องมานั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 2 มิ.ย ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บริเวณเพนียดคล้องช้าง หมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าบริเวณด้านข้างเพนียดคล้องช้างมีประชาชนตั้งเต๊นท์รับลงลายชื่อเพื่อคัดค้านการตัดหัวเสาตะลุง มีประชาชนจากจังหวัดต่างๆ พากันมาลงรายชื่อด้วย ซึ่งนายนพพร ขันธนิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.สวนพริก บอกว่ามีผู้ลงรายชื่อกว่า 1 พันคนแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาของการคัดค้านการตัดหัวเสาตะลุง โดยก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปร้องเรียนที่ สตง.ขอให้ตรวจสอบการซ่อมแซมแล้ว และได้พากันไปร้องศาลปกครอง เพื่อให้คุ้มครองในการระงับการซ่อมเสาตะลุง จนกว่าประชาชนจะยอมรับการซ่อมแซมครั้งนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะมีการจัดเสวนาและการให้ความรู้เรื่องเสาตะลุง ให้กับประชาชนและผู้ที่อยู่รอบบริเวณเพนียดได้รับความรู้
นายนที บ่อสุวรรณ อดีตรองผวจ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางมาร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านการตัดหัวเสาตะลุง เปิดเผยว่า ตนเกิดที่ ต.สวนพริก อยู่ใกล้กับเพนียดคล้องช้าง เห็นเพนียดคล้องช้างมาตั้งแต่เด็ก สมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้มีการบูรณะซ่อมแซมและมีพระราชอคันตุกะ ประเทศเดนมาร์คมาเยือน ครั้งนั้นพระองค์ก็ทรงมาทอดพระเนตรการคล้องช้าง ซึ่งถือว่าการซ่อมแซมครั้งนั้นเสาตะลุงทั้งด้านนอกและในก็มีหัวบัวทั้งหมด และหากไม่ถูกต้องกรมศิลปากร จะทำเป็นหัวบัวทำไม ตนเองยังมีความคิดว่าเสาหัวตัดที่กรมศิลปากรนำมาอ้างนั้น น่าจะเป็นช่วงที่เร่งรีบแล้วทำไม่ทัน จึงปักเสาธรรมดาไว้ด้านนอก หากสังเกตภาพที่กรมศิลปากรนำมาแสดง ก็จะเห็นว่าหลังคาของพระที่นั่งเอง ยังมีลักษณะเป็นผ้าผืนใหญ่คลุมหลังคา ไม่ใช่กระเบื้อง แสดงว่าทำไม่เสร็จ หลังจากนั้น เมื่อมีการซ่อมแซมเวลาต่อมา จึงมีหัวเสาตะลุงเป็นรูปหัวบัวมาตลอดทุกครั้ง จึงสันนิษฐานได้ว่ากรมศิลปากรเอาภาพที่ถ่ายเมื่อครั้งที่เพนียดคล้องช้างทำไม่เสร็จมาเป็นหลักฐาน ไม่เช่นนั้นการซ่อมแซมต่อมาจะมีหัวเสาทุกครั้งได้อย่างไร เป็นข้อสงสัยอย่างมาก มาจนวันนี้ กรมศิลปากรกำลังจะกลับไปที่การซ่อมแซมตามภาพที่สร้างไม่เสร็จมากกว่า เนื่องจากไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าการซ่อมทั้งสามครั้งผิดหรือไม่ กรมศิลปากรชี้แจงไม่ได้ หรือไม่กล้าชี้แจงมากกว่า และเชื่อว่าการซ่อมทั้งสามครั้งก็ต้องมีแบบ จะเป็นแบบผิดมาซ่อมได้อย่างไร ที่สำคัญได้ผ่านการทอดพระเนตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย เท่ากับครั้งนี้กรมศิลปากรกำลังทำลายสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาอย่างถูกต้อง แต่เอาภาพที่แสดงถึงเพนียดไม่สมบูรณ์มาเป็นหลักฐานได้อย่างไร มีอะไรบอกว่าสามครั้งที่ซ่อมมาผิด แล้วผิดให้ซ่อมมาได้อย่างไร กรมศิลปากรต้องตอบให้ชัดเจน แล้วรีบหาทางคืนความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเพนียดคล้องช้างกลับมาโดยเร็ว
ด้านดำรง พุฒตาล อดีตสว.กล่าวว่า ตนเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เคยเห็นเพนียดคล้องช้างมีหัวบัวมาตลอด ไม่เคยเห็นที่ไม่มีหัว และทราบว่าการซ่อมทุกครั้งมีหัวบัว เหตุใดครั้งนี้จึงไม่มี หากนำภาพเก่าที่บอกว่าไม่มีหัวบัว ก็ต้องมาชี้แจงให้ได้ว่าแล้วทั้งสามครั้งที่ซ่อมแซมนั้น เอาแบบมาจากไหน ไม่มีแบบเป็นไปไม่ได้ ตนมองว่าเดี๋ยวนี้การซ่อมแซมอะไร ก็ต้องเห็นความสำคัญด้านความรู้สึกประชาชน เชื่อว่าหากมีการทำประชาพิจารณ์คงไม่มีใครเห็นด้วย และตนเองก็คงไปร่วมลงชื่อไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน หากตนมีโอกาสไปดู ก็คงจะเอาเรื่องนี้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ให้มีการพิจารณาและหาทางออกให้เร็วที่สุด เพื่อให้เพนียดคล้องช้างอยู่กับคน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: