X

“ดำรง”เตรียมยื่นหนังสือรมต.วัฒนธรรมฯ แก้ปัญหาตัดหัวเสาตะลุง

พระนครศรีอยุธยา-ดำรง พุฒตาล อดีตสว.และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านค้านตัดหัวเสาตะลุง เผยรับไม่ได้ เรียกร้องให้คนอยุธยาอย่านิ่งเฉย ชาวบ้านจัดเวทีประชาคมมีนักวิชาการมาให้ความรู้ทุกเย็น

ความคืบหน้ากรณีที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง ม.3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยประชาชนทั่วไปทั้งที่อยู่รอบเพนียดคล้องช้างและทั่วไป ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดหัวเสาตะลุงในส่วนของปีกกาที่อยู่ด้านนอก แม้ว่านายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นการบูรณะซ่อมแซมตามหลักฐานเป็นรูปถ่ายของชาวต่างชาติที่ถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 มองเห็นเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอกเพนียด หรือนอกแนวกำแพงเป็นเสาคล้ายซุงที่ไม่มีหัวบัว ทำให้ชาวบ้านต่างไม่พอใจ เนื่องจากที่ผ่านมาการซ่อมทั้งสามครั้งมีหัวบัวมาตลอด โดยทางอธิบดีกรมศิลปากรชี้ว่ายอมรับฟังหาชาวบ้านมีหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นเสาหัวบัวทั้งหมดและมีหลักฐานที่เก่ากว่า ตามที่เสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 4 มิย นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย นายสมยศ สุขใจ และนายวสันต์ พัดทอง เป็นตัวแทนประชาชนที่ลงลายชื่อกว่า 1 พันคน คัดค้านการตัดหัวเสาตะลุง และขอให้ทำกลับมาสภาพเดิม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมผ่านนายดำรง พุฒตาล อดีต สว.และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้นำหนังสือไปยื่นต่อรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในการรักษาสภาพของเสาตะลุงที่ถูกตัดหัวไปให้เหมือนเดิมโดยเร็ว

นายดำรง เปิดเผยว่าตนได้เห็นเอกสารหลักฐานที่ตัวแทนชาวบ้านนำมายื่นแล้ว  มีความคิดเห็นว่าควรที่จะต้องสืบลงไปให้ลึกๆ สมัยรัชกาลที่ 4 ทำไมเสาตะลุงจึงเป็นเสากุดไม่มีหัวบัว และมีหัวบัวเวลาต่อมา ตนคิดเหมือนคนทั่วๆไป หัวบัวคือรูปลักษณ์ความเป็นไทย การที่เสาตะลุงมีหัวบัวอยู่แสดงว่าจะต้องมีความหมายและมีความสำคัญ อย่างน้อยก็ได้ความงดงาม เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเห็น เสาตะลุงที่มีหัวบัวย่อมที่จะสวยกว่าเสาตะลุงที่ไม่มีหัวบัว เหมือนกับไม้ซุงธรรมดา แต่ก็ไม่รู้ว่าอดีตเกิดอะไรขึ้นที่เสาตะลุงจึงไม่มีหัวบัว หรืออยู่ระหว่างการซ่อมแซม หรือซ่อมแล้วใส่ไม่ทันมีชาวต่างชาติมาถ่ายไว้ในช่วงนั้นพอดี อะไรก็เป็นไปได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการนั้น และไม่สามารถที่นำหลักฐานมาได้  ในวันที่ 5 มิย.ตนจะเข้าไปประชุมกับรมต.กระทรวงวัฒนธรรม ตนจะเล่าเรื่องให้รัฐมนตรีรับทราบ และขอความเห็นของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้  ซึ่งสิ่งที่ทำนี้ในฐานะลูกอยุธยา แต่ไม่อยากที่จะขัดแย้งกับกรมศิลปากร  หรือกระทรวงวัฒนธรรม เพราะพื้นทีส่วนใหญ่เป็นการดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร และก็ต้องมองดูอีกว่า ในช่วงที่เราเสนอตัวเป็นมรดกโลก ปี 2534 หรือ 2535 เสาตะลุงก็มีหัวบัว น่าจะมีภาพส่งไปยูเนสโก้ และในความเป็นจริง กรมศิลปากรมีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน ให้เป็นไปตามศิลปะและประวัติศาสตร์ในอดีต รัฐบาลหรือผู้ดูแลกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องดูแล คนอยุธยาอย่าอยู่เฉย

ด้านถั่วแระ เชิญยิ้ม นายกสมาคมตลกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมเชียร์ไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนเคยเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่เพนียดคล้องช้าง และยังเคยไปเที่ยว ก็เห็นเสาตะลุงทั้งข้างนอกข้างในมีหัวทั้งนั้น ตนเองยังแปลกใจว่าการซ่อมแซมที่ผ่านมา 3 ครั้งมีหัวบัวสวยงามทั้งสามครั้ง มีการใช้แบบเดียวกันมาทั้งสามครั้ง แต่ครั้งนี้มาเปลี่ยนแปลงเป็นเสาหัวตัด แล้วในอนาคตข้างหน้า ใครจะรู้กรมศิลปากรอาจจะเห็นว่าจริงๆ มันไม่สวยกลับไปเหมือนเดิมอีก อันนี้ก็อยากให้มีสภาพเดิมดีกว่า

อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าวว่าเพนียดคล้องช้างมีสองรูปแบบคือ รูปแบบที่รีบร้อนสร้างเพราะไปดักช้างในป่า ทำเป็นเสาธรรมดาและอีกแบบคือเสาที่มีการตกแต่งเพื่อให้กษัตริย์ทอดพระเนตร ก็คือเพนียดคล้องช้างที่อยุธยานี่แหละ ตนเชื่อว่าเสาตะลุงดั้งเดิมที่อยุธยามีหัว เนื่องการทำเสามีหัวนั้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการคล้องเชือก หรือล่ามช้างขณะจับได้ อีกทั้ง เสาตะลุงยังมีลักษณะคล้ายศิวะลึงก์ หรือพระศิวะเทพเจ้าบิดาของพระพิฆเนศวร์ นั่นเอง เป็นการสร้างตามคติความเชื่อด้วย การตัดหัวเสาตะลุงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

โดยในทุกเย็นที่บริเวณเพนียดคล้องช้าง มีประชาชนมารวมตัวกัน เพื่อรับฟังการอภิปรายและการเสวนาให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับเพนียดคล้องช้าง โดยมีนักวิชาการเดินทางมาพูดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา เดินทางมาร่วมเสวนาด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล

รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต การเมืองการปกครองท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มทร.สุวรรณภูมิ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา รางวัลพระราชทานเทพทอง สมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นักเรียนการแสดง รัชฟีล์มที่วี artspa ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์เคเบิลเอทีวี บรรณาธิการเจ้าของเพจสถานีข่าวเอทีวี นักเขียนอิสระ