กฟผ. ลงนามความร่วมมือโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี กับ NNEG ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมพลังงานร่วมพัฒนาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อยกระดับการบริหาร จัดการพลังงานไฟฟ้า รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายธนาธิษณ์ ช้อยแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านพลังงานในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี
ทั้งนี้ มีพลอากาศเอก ดร.นพพร จันทวานิช ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และมี ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กฟผ. พร้อมด้วยนายวรวิช จันทรมาลัย รองกรรมการผู้จัดการพาณิชยกิจและบริหารองค์กร NNEG ลงนามเป็นสักขีพยาน ที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีเจตนารมณ์เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี โดย กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบระบบโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่เข้าเงื่อนไข Smart City ตลอดจนศึกษางบประมาณการลงทุน รูปแบบการลงทุน รูปแบบทางธุรกิจ และผลตอบแทนการลงทุน นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือในการพัฒนาระบบไฟฟ้า
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อันมีส่วนช่วยผลักดันนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ตามนโยบาย ENERGY 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงยกระดับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมภารกิจการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของ กฟผ.
นายธนาธิษณ์ ช้อยแสง กรรมการผู้จัดการ NNEG กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการธุรกิจในเขตอุตสาหกรรม นวนคร ปทุมธานี มีปริมาณมากขึ้น และเพื่อให้การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภายในเขตอุตสาหกรรมของ NNEG มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมมือกับ กฟผ. ศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของทั้ง 2 องค์กร
สำหรับ การศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน มีระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี นับจากวันลงนามสัญญา โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะส่วนที่อยู่ในโครงข่ายการประกอบธุรกิจของ NNEG ทั้งนี้ กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาการพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน และมี NNEG เป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุนข้อมูลและการเข้าพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากร และบุคลากรด้าน Smart Grid รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ เกิดการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และเกิดความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ด้าน Smart Grid และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: