สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดน่าน มีแนวโน้มสูงขึ้น พบผู้ป่วยแล้ว 95 ราย ล่าสุดเสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 26 ปี โดยประวัติการเจ็บป่วยตั้งแต่ วันที่ 5 มิถุนายน มีอาการ มีไข้ ปวดศีรษะ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเนียน แล้วเดินทางกลับบ้านที่อำเภอเชียงกลาง
และ 7 มิถุนายน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงกลาง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยเป็นโรคไข้เลือดออก ส่งรักษาต่อโรงพยาบาลน่าน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และเสียชีวิตในช่วงเช้าวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
- ขอนแก่นเข้มต่อเนื่อง!!เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด รวบคู่รักนักค้ายา หลังฝ่ายชายเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า แนวโน้มการระบาดมีเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว มีการระบาดตั้งแต่เข้าต้นฤดูฝน จึงขอให้ประชาชนได้เฝ้าสังเกตคนในครอบครัว หากมีอาการเป็นไข้สูง หน้าแดง รับประทานยาลดไข้ แล้วไข้ไม่ลด
รวมทั้งไม่มีน้ำมูกและอาการไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ไม่จำเป็นต้องรอให้มีจุดแดงตามลำตัว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะหากอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีประวัติคนป่วยไข้เลือดออก หรือมีการระบาด ทั้งนี้ไข้เลือดออก หากรักษาไม่ทันท่วงที มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน เปิดเผยสถานการณ์ไข้เลือดออก พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 95 ราย เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ สูงสุดอำเภอเมือง 37 ราย ท่าวังผา 27 ราย ภูเพียง 15 ราย
จากข้อมูลมีการระบาดตั้งแต่เริ่มหน้าฝน แนวโน้มว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ ช่วง 2-3 ปีผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนจาก เด็ก เป็นผู้ใหญ่ พบอายุมากกว่า 25 ปี ถึงร้อยละ 76 น่าจะเกิดจากช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา
มีการควบคุมไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ในช่วงเป็นเด็กไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออก จนป่วยในช่วงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเองไม่คิดว่าตนเองป่วยด้วยไข้เลือดออก ส่วนของแพทย์ก็วินิจฉัยได้ยากขึ้น จากการสอบสวนพื้นที่ที่มีการระบาด
พบแตกต่างจากปีก่อนๆ โดยไม่ค่อยพบลูกน้ำยุงลายในบ้าน แต่พบลูกน้ำยุงลายในแหล่งน้ำสาธารณะที่มนุษย์สร้างขึ้น คือ รางระบายน้ำที่ทำจากปูนซีเมนต์ และมีบางส่วนที่ความลาดชันไม่มาก และมีเศษใบไม้ ขยะไปสะสม ทำให้มีน้ำขัง
ด้าน นายนิยม ศิริ สาธารณสุขอำเภอเมืองน่าน เปิดเผยว่า การควบคุมโรคในพื้นที่ ได้ประสานความร่วมมือสาธารณสุขจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ war room ที่ รพ.สต.สะเนียน โดยทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองน่าน ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจข้อมูลและดำเนินการควบคุมโรคทันที โดยประสานผู้นำชุมชน อสม. ลงพื้นที่ ทำการพ่นสารเคมี และค้นหาแหล่งโรค
ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำ มาตรการ 3 ก. “ไม่ให้ยุงกัด” ให้ทายาต่อเนื่อง สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่อยู่ในที่มืดอับชื้น “ไม่ให้ยุงเกิด” สำรวจลูกน้ำยุงลายให้เป็นนิสัย และ “ใช้มาตรการ 3 เก็บ” ได้แก่ “เก็บน้ำ” ปิดภาชนะให้มิดชิดไม่ให้ยุงวางไข่ “ เก็บขยะ” ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย “เก็บบ้าน” ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก
ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก นายอนุชิต จินะวงศ์ หัวหน้างานสนับสนุน ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 1.5 แพร่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรมควบคุมโรค สำรวจแผนที่เดินดิน บริเวณพื้นที่เพื่อจะดำเนินการใช้เครื่องพ่นเคมีชนิดพ่นละอองฝอย ULV แบบติดรถยนต์ เพื่อวางแผนดำเนินการพ่น ULV ทำการควบคุมโรคต่อไปหลังจากนี้
ให้เจ้าหน้าที่และ อสม. ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม จาก อาการไข้ สูง 38.5 เซลเซียส ประสาน องค์การบริหารส่วนตำบลสะเนียน พ่นสารเคมี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา กำหนดมาตรการ 3 ก. พร้อมกันทั้งพื้นที่หมู่บ้าน ในวันที่ 13 มิถุนายน ทั้งยังได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำท้องถิ่นกับ อสม.ทุกแห่ง สำรวจพื้นที่ว่ามีจุดใดเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกหรือไม่
และเฝ้าระวังประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ที่เสี่ยงต่อสถานการณ์ไข้เลือดออก หรือมีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกก็ขอให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับทราบ หรือรีบพามาตรวจที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: