นายวิศิษฐ์ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองน่าน เรียกประชุมด่วนเพื่อรับฟังและมอบนโยบายการดำเนินการควบคุมไข้เลือดออกที่ระบายในพื้นที่หลายตำบลในเขตอำเภอเมืองน่าน
วันนี้ 14 มิถุนายน 2562 ที่ศูนย์ WAR ROOM การควบคุมไข้เลือดออก รพ.สต.สะเนียน นายวิศิษฐ์ ทวีสิงห์ นายอำเภอเมืองน่าน นายนิยม ศิริ สาธารณสุขอำเภอเมืองน่าน ร่วมรับฟังปัญหา และการแก้ไขการระบาดของไข้เลือดออก ใน 3 ตำบลในเขตอำเภอเมืองน่าน ตำบลสะเนียน ตำบลบ่อสวก และตำบลนาซาว โดยมีผู้นำชุมชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง โดยที่ประชุมได้รับฟังเหตุการณ์ สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ การตระหนักรู้ของชุมชนมีมากขึ้น โดยปัจจุบันพบประชาชนมีอาการปวดหัวเล็กน้อยก็เดินทางมาตรวจรักษาที่ รพ.สต.โดยทันที
ด้าน นายนิยม ศิริ สสอ.เมืองน่าน กล่าวว่า การควบคุมโรคในพื้นที่ ต.สะเนียน ได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับชุมชน โดยพบปัญหาคือแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กาบกล้วย ใบไม้แห้ง ทั้งยังสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่รกทึบ เช่นป่าละเมาะท้ายหมู่บ้าน โรงเรียนร้างที่ควบรวมกับที่อื่น ทางระบายน้ำไม่ได้ระดับ โดยทำการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกคือ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ด้าน นางอรพิน ตรีสนธิ์ ผอ.รพ.สต.สะเนียน กล่าวว่า การดำเนินการควบคุมโรค ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว โดยได้ประสานงานกับ กองสาธารณสุข อบต.สะเนียน ในการพ่นสารเคมีในบริเวณพื้นที่ และพ่นครั้งที่ 2 หลังจากพ่นครั้งแรก 7 วัน คือวันที่ 12 มิถุนายน
ด้าน นางณัณทิญา ฟักรักษา ผอ.กองสาธารณสุข อบต.สะเนียน กล่าวว่า การดำเนินการของส่วนของ อบต.ได้ดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีในรัศมี 100 เมตรตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ตั้งแต่ได้รับแจ้งว่าพบผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรก และพ่นครั้งที่ 2 วันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตามแนวทางการควบคุมโรค
ด้านผู้นำชุมชน แจ้งปัญหาว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความร่วมมือกับบางรายในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่อนุญาตให้เข้าไปพ่นสารเคมีกำจัดยุงในบริเวณบ้าน และมีคำถามจากชาวบ้านว่าการกระทำของหน่วยราชการเป็นการกระทำแบบวัวหายล้อมคอกหรือเปล่า ทำไมไม่พ่นสารเคมีก่อนที่จะมีการระบาด
ด้าน นายธีรพล วรรณวิภูษิต นายก อบต.สะเนียน กล่าวว่าในการแก้ปัญหาในส่วนของ อบต. พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ทั้งทางบุคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มี ในส่วนของทางระบายน้ำที่ไม่ได้ระดับ ให้แจ้งมาทาง อบต. จะดำเนินการแก้ไขในทันที ส่วนของการป้องกันทาง อบต. ได้จัดสรรทรายเคมีฟอส เพื่อแจกจ่ายให้ อสม. ในการป้องกันทุก 3 เดือนอยู่แล้ว ส่วนการพ่นเคมีก่อนการเกิดโรค ยังติดขัดด้วยข้อกฎหมายหลาย ๆ ข้อ
ด้าน นางนิภาพร พอใจ ผอ.รพ.สต.บ้านน้ำโค้ง กล่าวว่า การควบคุมและแก้ปัญหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนและการตระหนักรู้ของประชาชนในการกำจัดแหล่งโรค พื้นที่ต้องมีจิตสำนึกถึงการมีส่วนร่วมไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่นพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต.บ้านน้ำโค้ง ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี โดยพื้นที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1 ราย เมื่อเดือนที่แล้วสามารถเข้าควบคุมโรคได้เร็วเพราะชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นายอำเภอเมืองน่าน กล่าวตอนท้ายว่า การที่จะให้พี่ประชาชนไม่ถูกยุงกัดเลยเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีแนวทางใดในการควบคุม การควบคุมโรคจะทำที่เดียวคือที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ไม่ได้ ต้องทำตามการเดินทางของผู้ป่วยด้วย ว่าผู้ป่วยทำงานที่ไหน เดินทางไปไหนมาบ้าง และขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีความสงบสุข และในส่วนของการไม่ได้รับความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์โรค ให้ผู้นำชุมชนประสานทางกำนันให้พูดคุยทำความเข้าใจว่าผลกระทบที่เกิดร้ายแรงถึงชีวิต หากยังไม่ปฏิบัติตามให้รายงานโดยตรงมาที่อำเภอ และฝากให้ประชาสัมพันธ์การไม่ปฏิบัติตามการควบคุมโรคนั้นมีความผิดตาม พรบ.ควบคุมโรค 2558 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: