ถือว่าอีกหนึ่งความสำเร็จกับการคิดพัฒนาต่อยอดอาชีพ จากเจ้าของตลาดสดที่ได้นำแนวคิด เรื่องการคัดแยกขยะ มาใช้ในการบริหารจัดการตลาดเชื่อมโยงสู่อาชีพทำการเกษตร เพื่อหารายได้เสริมด้วยการพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนผืนที่ดินทำกินที่มีอยู่ ใช้ปุ๋ยหมักจากเศษขยะเศษอาหารปลูกพืชผักปลอดสารพิษจำหน่าย สร้างรายได้เพิ่มให้กับตนเอง และครอบครัวอีกวันละไม่น้อยกว่า 500-600 บาท ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพของ นายเสาร์คำ ฟูใจ ราษฎรชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ 13 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ผู้สื่อข่าวได้เยี่ยมชมดูวิธีการทำการเกษตรของนายเสาร์คำฯ พบว่าบนพื้นที่สวนแปลงปลูกเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ นายเสาร์คำฯ ได้มีการจัดสรรผืนที่ดินทำกินเพาะปลูกพืชผักอยู่หลายชนิดจนเต็มพื้นที่ มีทั้งพืชผักสวนครัวและผลไม้ โดยพืชที่ปลูกส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิต สามารถที่จะเก็บเกี่ยวไปจำหน่ายได้บ้างแล้ว ซึ่งจากการสอบถามนายเสาร์คำฯ ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า พื้นที่สวนแปลงปลูกแห่งนี้มีเนื้อที่กว้างกว่า 1.5 ไร่ ภายในสวนได้ทำการปลูกพืชผักและผลไม้แบบผสมผสาน ส่วนวิธีการปลูกได้เลือกที่จะใช้เทคนิควิธีการตามแบบธรรมชาติ ภายใต้หลักแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผลผลิตที่ได้จากสวนเกษตรแห่งนี้ เป็นผลิตผลอินทรีย์ปลอดสารพิษทั้งหมด
ส่วนในเรื่องของแนวคิดถึงการริเริ่มประกอบอาชีพทำการเกษตร นายเสาร์คำ ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า แต่เดิมตนเองเป็นคนในพื้นที่ตำบลบ้านเสด็จ อยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง เคยมีประสบการณ์ในเรื่องการปลูกพืชสับปะรด ซึ่งในการปลูกตนเองก็ได้มีการพึ่งพาสารเคมีหลากหลายชนิด ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงแต่เมื่อขายผลผลิตกลับขายได้ในราคาถูกจนต้องประสบปัญหาการขาดทุนและต้องเลิกราไปในที่สุด จากนั้นได้หันตนเองมาประกอบอาชีพค้าขาย และได้มีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ หลายแห่ง ได้พบปะกับเกษตรกรหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนปลูกพืชผักแบบผสมผสาน
ตนเองจึงได้สอบถามพูดคุยศึกษาและจดจำนำเอาเทคนิควิธีการต่างๆ มารวมกับประสบการณ์ด้านการเกษตรที่ตนมีอยู่ ทำการริเริ่มทดลองปลูกพืชผักผลไม้ชนิดต่างๆ ภายในพื้นที่สวนแห่งนี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ติดแต่เพียงปัญหาเรื่องปุ๋ยที่จำเป็นต้องใช้ในการดูแลบำรุงต้นพืชที่ยังคงต้องทำการซื้อหาจากร้านค้า จึงทำให้ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่ ต่อมาเมื่อตนเองได้มีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจเปิดแผงเช่าตลาดสด ที่บ้านต้นยาง หมู่ที่ 4 ตำบลพิชัย ควบคู่ไปกับการทำสวนเกษตร ระหว่างนั้นตนต้องประสบปัญหาเรื่องสถานที่ทิ้งขยะมีไม่เพียงพอ ตนจึงได้นำหลักการคัดแยกขยะเข้ามาบริหารจัดการตามหลักวิชาการ โดยขยะส่วนใหญ่ได้ถูกกำจัดไปด้วยวิธีการต่างๆ ในส่วนนี้เองตนก็ได้อาศัยความรู้ที่ได้จดจำมาจากหลายๆ พื้นที่เอามาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำขยะเปียกทั้งเศษอาหาร รวมถึงเปลือกผลไม้ทุกชนิด มาทดลองทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และทำปุ๋ยหมักใช้เอง ซึ่งก็ได้ลองผิดลองถูกอยู่นานหลายเดือนก่อนที่จะได้สูตรที่เหมาะสมเป็นของตนเอง และหลังจากนั้นก็ได้ใช้วิธีการนี้ทำเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยทำให้ตนเองมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงไม่ต้องพึ่งพายาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีใดๆ ในการทำสวนเกษตร โดยผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจพืชผลภายในสวนที่ปลูก แต่ละต้นมีความอุดมสมบูรณ์เจริญเติบโตงอกงาม ทั้งยังติดดอกออกผลอย่างต่อเนื่องสร้างรายได้เสริมให้กับตนและครอบครัวเป็นจำนวนมาก
โดยปัจจุบันภายในพื้นที่แปลงปลูกสวนเกษตรของ นายเสาร์คำ ทางเจ้าของได้มีการปลูกพืชผักผลไม้ไว้หลายชนิด อาทิเช่น ผักเชียงดา ชะอม กล้วยน้ำหว้า มะนาว มะพร้าว มะปราง ลำไย เงาะ และทุเรียน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดได้ปลูกไว้สำหรับกินกันภายในครอบครัวและไว้เพื่อจำหน่าย โดยมีพืชหลักที่ได้สร้างรายได้ให้กับครอบครัวนายเสาร์คำฯ คือ กล้วยน้ำหว้า และชะอม ซึ่งนายเสาร์คำฯ ได้กล่าวถึงรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายกล้วยน้ำหว้า ว่าอยู่ที่ประมาณ 700-1,000 บาทต่อเดือน ส่วนชะอมสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500-600 บาทต่อวัน และในช่วงหน้าแล้งของทุกปีระหว่างช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน ราคาผักชะอมยังสามารถพุ่งสูงขึ้นไปได้อีก โดยนายเสาร์คำ สามารถที่จะขายผักชะอมได้ถึงประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อวัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: