X

หนึ่งเดียวในประเทศงานบุญทานไฟมาฆบูชา

จ.ตรังจัดงานบุญให้ทานไฟมาฆบูชาวัดควนนาแคประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศ

 

วันที่ 1 มี.ค.61 เมื่อเวลา 05.45 น. วัดควนนาแค ม.5  ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง  พระครูประยุตอัครธรรม เจ้าอาวาสวัดควนนาแค นายนันธวัชเจริญวรรณ นายอำเภอเมืองตรัง นายวัชรศักดิ์ ศรีขำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน อำเภอเมืองตรัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส ในพิธีงานบุญให้ทานไฟประจำปี ซึ่งวัดควนนาแค สภาวัฒนธรรมประจำตำบลบ้านควน อบต.บ้านควน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 แล้ว และเป็นวัดเดียวในจ.ตรังที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เพียงหนึ่งเดียวของจังหวัด ให้คงอนุรักษ์ไว้อยู่ประจำถิ่น  เพื่อชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าวัด ทำบุญ เนื่องในวันมาฆบูชา สร้างความรัก ความสามัคคี โดยต้องตื่นตั้งแต่ 04.00 น. นำอุปกรณ์ วัตถุดิบการทำขนมคาว หวานมาทำกันอย่างสด ใหม่ ยังมีความร้อนถวายพระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน 100 รูป ที่นิมนต์มารับภัตตาหาร และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่มาร่วมงาน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมพื้นบ้านประจำถิ่น หรือหากินยาก เช่น ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง ขนมรู ขนมครก  ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด  นอกจากนั้นยังมีน้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง  โดยเฉพาะขนมเบื้อง หรือขนมฝามี ซึ่งเป็นขนมโบราณอายุกว่า 100 ปี  และเป็นตัวเอกของงานนี้ ที่ต้องนำถวายพระภิกษุสงฆ์ ตามความเชื่อเหมือนสมัยพุทธกาล  เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน

พระครูประยุตอัครธรรม เจ้าอาวาสวัดควนนาแค   กล่าวว่า ซึ่งการให้ทานไฟ คือการทำอาหารร้อนๆถวายพระ  เป็นการทำบุญสมัยโบราณเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในตอนเช้ามืดของคืนที่มีอากาศหนาวเย็น ให้พระผิงไฟ   และใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟแล้วทำขนมถวายพระ  ประเพณีการให้ทานไฟ  นิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย  หรือ  เดือนยี่ของทุก ๆ  ปี (ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์)  ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นใน ภาคใต้ (แต่เดิม)

ด.ต.พิชัย  จริงจิตร ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวและชุมชน  กล่าวว่า  ประเพณีการให้ทานไฟเป็นกิจกรรมในวันมาฆบูชา  มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีความเห็น นัยหนึ่งว่า  เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “โกสิยะ” มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยาและบุตรของตน ต่อมา เศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) จึงให้ภรรยาไปแอบทำขนมบนปราสาท เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้เห็นแล้วจะมาขอแบ่งขนมกินด้วย ความนี้ ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า เพื่อจะโปรดเศรษฐีให้มีใจน้อมไปในการบริจาคทานจึงได้มอบหมายพระโมคคัลลานเถระ  อัครสาวกเบื้องซ้ายไปโปรดโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่คนนี้ เมื่อพระเถระรับพุทธบัญชาแล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ทรมานเศรษฐีด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเศรษฐีคลายความพยศ ได้ถวายขนมเบื้องแก่พระเถระ เพราะกลัวไฟจะไหม้ปราสาทของตนด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระเถร เมื่อเศรษฐีถวายขนมเบื้องแล้ว  พระเถระได้แสดงพระธรรมโดยพรรณนาคุณพระรัตนตรัย และแสดงอานิสงส์การให้ทาน จนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใส ได้นำขนมเบื้องและวัตถุทานอื่น ๆ มาถวายแก่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ 500 รูป ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องที่เศรษฐีนำมาถวายพระ มีเหลือมากมาย แม้จะแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน คนยากจนขอทาน ขนมก็ยังล้นเหลือ จนถึงกับนำไปเททิ้ง ที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทั้งนั้น เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง กาลต่อมา โกสิยเศรษฐี กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา   ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน

นางนาฎ ซุนเซนลี อายุ 65 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านควนที่อนุรักษ์การทำขนมเบื้อง หรือขนมฝามี เอาไว้มาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ กล่าวว่า  เรียนรู้การทำขนมฝามีจากรุ่นแม่ เป็นขนมโบราณที่สืบทอดกันมา ใช้เพียงแป้ง ผสมน้ำ ผสมเกลือนิดหน่อย แล้วนำมาทอดปิดฝา ประวัติความเป็นมาเดิมคนโบราณมีลูกมาก เงินน้อยก็ต้องประหยัด ทำขนมง่ายๆ ไม่ต้องมีวัตถุดิบมากให้ลูกกินประทังหิว ซึ่งขนมชนิดนี้ในจ.ตรัง มีคนทำเป็นอยู่ 2 ครอบครัวเท่านั้น แม้จะทำไม่ยาก แต่ไม่ค่อยนิยมกินกัน และขนมชนิดนี้เป็นตัวเอกในพิธีบุญให้ทานไฟ

ในขณะที่เช้าวันนี้ ทางจังหวัดตรังได้จัดให้มีการทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา  ที่วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ศิริพัฒ  พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  นายชัชวาล  ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  นายวสันต์  ถนอมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายกิจ  หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ชาวจังหวัดตรังสวมใส่ชุดขาวร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ 29 รูป เนื่องในวันมาฆบูชา โดยปีนี้มีชาว จ.ตรังต่างจูงลูกจูงหลานมาร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว  

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน