สระแก้ว – อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว หลังพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างหนัก จากพื้นที่ 5 อำเภอ เพิ่มเป็น 8 อำเภอ ภายใน 1 เดือน เตรียมวางมาตรการควบคุมการระบาดของโรคครบวงจร เพื่อไม่ให้กระจายไปพื้นที่อื่น
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เดินทางเข้าพบ นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และ นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อหารือการเฝ้าระวังและจำกัดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ตำบลท่าเกษม อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยนางสาวเสริมสุข เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร พบโรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีการระบาดอยู่ 5 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และเดือนมิถุนายน สำรวจพบการระบาดเพิ่ม เป็น 8 อำเภอ จึงขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเป็นการเร่งด่วน เพื่อจะบูรณาร่วมกันในการกำจัดโรคใบด่างในมันสำปะหลัง และลดการแพร่กระจายไม่ให้ระบาดไปมากกว่านี้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า โรคดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีปริมาณผลผลิตที่ลดลง ทั้งนี้ หากระบาดเป็นจำนวนมากจะทำให้ขาดแคลนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยโรคใบด่างในมันสำปะหลังมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค มีหลักวิธีกำจัด 3 ข้อ ได้แก่ 1)พบแล้วให้ฝังกลบทำลาย 2)กำจัดแมงหวี่ขาว และ 3)ห้ามเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ออกจากแปลง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดพื้นที่อื่น
ข่าวน่าสนใจ:
“เกษตรกรต้องสำรวจทุกอาทิตย์ ๆ ละ 2 ครั้งเป็นอย่างต่ำ เมื่อพบการระบาดให้ทำลายทันที โดยการทำให้ต้นตาย ด้วยวิธีฝังกลบ หรือสับต้นมันสำปะหลังเป็นท่อน ๆ แล้วใส่ถุงดำมัดปากถุงทิ้งไว้ในแปลงกลางแดด จนกว่าต้นจะตาย แล้วห้ามเคลื่อนย้ายออกนอกแปลง และถ้าต้องการจะปลูกใหม่ ต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาดจากแปลงที่ไม่เป็นโรคมาก่อน พร้อมทั้งแจ้งสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ สิ่งที่สำคัญเกษตรกรต้องให้ความร่วมมือกับทางหน่วยราชการในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค จึงจะกำจัดโรคระบาดนี้ได้จริงจัง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ทางด้าน นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ทางจังหวัดมีความเป็นห่วงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หลังจากนี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรควบคู่ไปกับการกำจัดโรคใบด่างในมันสำปะหลัง เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคและหาแนวทางป้องกัน สกัดกั้น การนำเข้าพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคด้วย โดยในเบื้องต้นได้มีเกษตรอำเภอลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคใบด่างในในสำปะหลัง และการทำลายเมื่อพบโรคดังกล่าว ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: