นครพนม – วันที่ 30 มิถุนายน 62 บริเวณวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระติ้ว พระเทียม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดนครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ได้จัดงานประเพณีบุญเดือน 7 หรือบุญซำฮะเมือง อันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็น ปีนี้ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 7
นายนิวัต เปิดเผยว่า บุญซำฮะ (บุญชำระ) หรือบุญเบิกบ้าน เป็นงานบุญในเดือน 7 ตามฮีต 12 คอง 14 ของคนอีสาน (ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น) แต่ในบางพื้นที่นิยมจัดในเดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีต่อเนื่องจากการเลี้ยงผีปู่ตา เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้ขจัดออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน
โดยพิธีเริ่มเวลา 13.00 น. พระสงฆ์จำนวน 4 รูป สวดทุกทิศทั้ง 4 มุมเมือง ตามลำดับคือ ทิศเหนือ อยู่ที่ปากทางเข้าบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง พระครูอินทธรรมโกวิท วัดพระอินทร์แปลง,ทิศใต้ อยู่ที่ท้ายเมืองหน้าโรงเรียนเทคโนโลยีอินโดจีน พระปลัดพรสวรรค์ สิริปัญโญ วัดกลาง,ทิศตะวันออก บริเวณหน้าวัดโอกาส(ศรีบัวบาน) พระครูสารธรรมวิจิตร วัดกกต้อง และทิศตะวักตก อยู่บริเวณเชิงสะพานห้วยฮ่องฮอ เยื้องห้างแม็คโคร มี พระครูอุทัยปทุมาภรณ์ นั่งสวดประจำทิศ
ระหว่างนั้นบริเวณปะรำพิธีภายในวัดโอกาส พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ใหญ่ และสืบชะตาเมือง โดยพุทธศาสนิกชนจะนุ่งขาวห่มขาว พร้อมนำเทียนขี้ผึ้งขนาดความยาวรอบศีรษะ 1 วัดจากคอถึงสะดือ 1 และวัดจากข้อมือถึงศอกอีก 1 พร้อมเงิน 4 ตำลึง (16 บาท) ดอกไม้ ธูป เทียน ขันน้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน ขันกรวดทราย เข้าร่วมพิธีสืบชะตาเมืองในครั้งนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- ระทึก ไฟไหม้โรงงานผลิตกล่องโฟมใส่อาหารหวิดวอดหมดหลัง
- คอกาแฟแห่เที่ยวงานพังงาคอฟฟี่เจอร์นี่ ซีซั่น 3 ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Coffee in the Park ในสวนสมเด็จฯพังงา
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
ในพิธีได้จัดเครื่องสืบชะตาเมือง พราหมญ์อ่านโองการบวงสรวงเทพาอารักษ์ผู้รักษาเมือง มีพระครูวิชิตพัฒนคุณ วัดกกต้อง ได้รับการสมมุติเป็นราชครู โดยหัวหน้าส่วนราชการสมมุติเป็นเจ้าเมืองต่างๆ เช่น นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้รับการสมมุติเป็นอุปฮาด, นายนรวัฒน์ สวยงาม ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนม เป็นเมืองซ้าย นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผวจ.ฯ เป็นเมืองขวา นายธานินทร์ ประดิษฐ์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิจังหวัดฯ เป็นราชวงศ์ นายสุเทพ อติวรรณกุล นายกสมาคมพ่อค้าฯ เป็นกวนขุน พ.ต.อ.ณรงค์ วงศ์ธรรม ผกก.สอบสวน บก.ภ.จวนครพนม เป็นทะแกล้ว พ.อ.สุระ สินโสภา รอง ผบ.มทบ.210 เป็นทหาร นายเอกราช มณีกรรณ์ นายอำเภอเมืองนครพนม เป็นหูเมือง และนายนิวัติ เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม เป็นตาเมือง ซึ่งเป็นชื่อที่เป็นเจ้าเมืองในอดีตกาลทั้งสิ้น
สำหรับบุญซำฮะเมือง หรือบุญชำระเมือง เกิดขึ้นตามความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงเดือน 7 ต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาด เพื่อปัดเป่ารังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไร ภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกบุญเบิกฟ้า บางแห่งก็เรียกบุญบ้าน หรือบางแห่งที่เป็นหมู่บ้านใหญ่อาจแบ่งกันทำเป็นคุ้ม จึงเรียกว่าบุญคุ้ม เป็นต้น
โดยมีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า เมื่อครั้งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง เพราะฝนแล้ง ทำให้มีสัตว์เลี้ยงและผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยความหิวโหยและเกิดโรคระบาด ดังนั้นชาวเมืองจึงพากันไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาขจัดปัดเป่าให้ โดยพระองค์และพระสงฆ์จำนวน 500 รูป ได้เดินทางด้วยเรือมาตามแม่น้ำ ใช้ระยะเวลา 7 วัน จึงถึงเมืองไพสาลี และเมื่อเสด็จมาถึงก็เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำท่วมแผ่นดินสูงจนถึงหัวเข่า และได้พัดเอาสิ่งสกปรก ซากศพของคนและสัตว์ต่างๆ ที่ล้มตายหายไปจนหมดสิ้น จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้นำน้ำมนต์ใส่บาตร ให้พระอานนท์นำไปพรมทั่วทั้งพระนคร ทำให้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หายไปสิ้น จึงเป็นเหตุให้เมื่อถึงเดือน 7 ครั้งใด คนไทยอีสานและคนลาวโบราณจะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่ขวดทรายและฝ้ายผูกแขนมารวมกันที่วัด จากนั้นก็นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
กระทั่งวันรุ่งเช้า จะร่วมกันทำบุญตักบาตร รับศีลและประพรมน้ำมนต์จากพระคุณเจ้า แล้วทุกคนจะเอาขันน้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปยังบ้าน เพื่อพรมให้คนในครอบครัว บ้านเรือน และสัตว์เลี้ยง ส่วนฝ้ายผูกแขนก็นำไปให้บุตรหลาน เพื่อใช้เป็นเครื่องรางคอยปกป้องคุ้มครองให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ขณะที่กรวดทรายก็นำไปวางรอบๆ บริเวณบ้านและที่นา เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
อย่างไรก็ตาม บางแห่งจะทำบุญซำฮะ เมื่อฝนแล้งหรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อทำบุญทำทานนี้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เมืองใดที่มีมเหศักดิ์หลักเมือง ก็ทำพิธีเซ่นสรวงหลักเมือง หมู่บ้านใดที่มีผีประจำหมู่บ้านซึ่งเรียกกันว่าผีปู่ตาหรือเจ้าบ้าน ก็จะทำพิธีเลี้ยงในเดือน 7 นี้ และนำข้าวปลาอาหารพร้อมสิ่งอื่นๆ ไปเลี้ยงผีประจำไร่นา ก็เรียกว่าผีตาแฮก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: