พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ร่วมประชุมหารือกับส่วนราชการและผู้แทนภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมระบุว่าช้างป่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ จะต้องให้ความสำคัญและยกเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะมีปัญหาในหลายพื้นที่ โดยภาครัฐจะต้องร่วมกับประชาชนในการวางแผนป้องกันช้างป่า พัฒนาระบบแจ้งเตือนและอาสาสมัครป้องกันช้างป่าทุกหมู่บ้าน
7 มีนาคม 2561 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วย นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งปวดล้อม , นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้,นางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมคณะ เดินทางมาร่วมประชุมหารือกับส่วนราชการ และภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยมีหน่วยที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายรุจน์ประทีป ธรรมรพีภัทร์ นายอำเภอหัวหิน,นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี ,นายนิธิ อาจสมรรถ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี ,นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี ,นายมานะ เพิ่มพูล หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ,นายกาญจนพันธ์ คำแหง หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ,ทหาร, องค์กรอิสระ(NGO) ภาคประชาชนทั้ง 2 แห่ง เข้าร่วมประชุม นำเสนอสถานการณ์ สภาพปัญหา แนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมา
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัดทั้งเพชรบุรีและอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีลักษณะปัญหาที่คล้ายกัน เนื่องจากมีพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน อยู่ติดกับพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีช้างป่าออกมาหากินและเดินบนถนน
จากการสำรวจพบว่า ประชากรช้างป่าทั่วประเทศมีประมาณ 2,300 ตัว มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ และมีบางส่วนออกจากป่ามาหากินในพื้นที่ของคน ทั้งจากพลัดหลงจากฝูง ลูกช้างพลัดหลงจากแม่ช้าง หรือช้างที่ตกมัน เป็นต้น เมื่อเข้ามาอยู่ใกล้คน ก็สร้างปัญหาความเดือดร้อน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำให้วันนี้ต้องมารับฟังปัญหาและแนวทางการแก้ไข
ซึ่งที่ผ่านมาก็ทราบว่ามีการแก้ปัญหาจากภาคประชาชนเองไปบางส่วนแล้ว ทั้งการสร้างแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวร และคูกันช้าง การสร้างแหล่งอาหารแหล่งน้ำ เป็นต้น แต่ก็พบว่ายังมีปัญหา และอุปสรรคอีกหลายด้าน ที่ยังความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ ซึ่งครั้งนี้ก็มีหน่วยงานในกระทรวง และกรมต่างๆมาร่วมรับฟังปัญหาด้วย
ทั้งนี้ปัญหาช้างป่า ไม่ใช่ปัญหาในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป แต่จะต้องยกระดับความสำคัญเป็นปัญหาระดับชาติเนื่องจากเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดของประเทศ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการดูแลระดับชาติ มีการศึกษาวางแผนอย่างเป็นระบบ มีทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจำต้องกำหนดแนวทางในการสร้างแนวกันช้าง ผลักดันช้างไม่ให้เข้ามาในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือกับประชาชนเป็นหลัก จุดไหนที่ช้างหลุดรอดเข้ามา จะต้องมีการเฝ้าระวังแจ้งเตือน
ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบแจ้งเตือนให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีเจ้าหน้าที่ชุดติดตามช้าง และฝึกอาสาสมัครร่วมเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่าของแต่ละหมู่บ้าน รวมทั้งมีมาตรการดูแลเยียวยากรณีพืชผลทางการเกษตรเสียหายจากช้างป่า ซึ่งอัตราการเยียวยาความเสียหายจากสัตว์ป่า จะต้องดูแลให้เหมาะสมตามความเป็นจริง สำหรับพื้นที่ที่มีช้างป่าออกมาเดินบนท้องถนน จะต้องสร้างแนวกันช้าง และในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะต้องมีติดป้ายเตือนให้ลดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการบาดเจ็บ เสียชีวิตทั้งคน และสัตว์ป่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หากในระยะยาว สามารถสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารในป่า เพื่อดึงดูดให้ช้างกลับเข้าป่าได้ ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลงตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวตอนท้ายว่าในส่วนของปัญหาที่รับฟังจากชาวบ้านย่านซื่อ อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ ว่าระยะหลังช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ออกมากัดกินพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ ตนเองกลับไปแล้วเมื่อมีโอกาสจะเดินทางลงไปในพื้นที่บ้านย่านซื่ออีกครั้ง ส่วนกรณีที่ช้างป่าถูกยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิล ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นทราบว่าตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องไปสืบสวนสอบสวน และหาตัวผู้ระทำความผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
ข่าว/ภาพ..วิมล ทับคง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: