ปทุมธานี เที่ยววัดไหว้…พระสมเด็จฯ พิมพ์เกศทะลุซุ้ม องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่วัดอัมพุวราราม
…..พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ หรือพิมพ์ทรงเจดีย์ ในอดีตนั้น เซียนพระหรือเจ้าของรังพระผู้ยิ่งใหญ่ แต่ละท่านก็จะมีความรักในสภาพขององค์พระที่แตกต่างกันไปบ้าง
พระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์พระประธานใน พระชุดเบญจภาคี ท่านผู้สร้าง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)พุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จฯระฆังฯ มีมากมาย นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมาเนิ่นนาน
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ที่พระนครศรีอยุธยา ท่านมีอายุยืนยาวนานถึง ๕ แผ่นดิน โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่อยู่ทันเห็น รัชกาลที่ ๑ พระองค์จริง ทั้งนี้ เมื่อท่านอุปสมบท รัชกาลที่ ๑ ทรงพระเมตตารับเป็นนาคหลวง อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)เป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน พระสังฆราชองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้สร้าง พระสมเด็จฯอรหังขึ้น ทั้งนี้ ว่ากันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ดำเนินรอยตามการสร้างพระตามสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หลังจากนั้น ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม
มูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังนั้น เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องพระพิมพ์ ในครั้งนั้นท่านได้พบพระพิมพ์โบราณที่วัดเสด็จซึ่งเป็นวัดร้าง ท่านจึงได้นำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริที่ว่าจะสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณได้กระทำมา
สำหรับมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบด้วย ปูนขาวเป็นส่วนใหญ่ (เอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว)ผงพุทธคุณ ซึ่งเกิดจากการเขียนอักขระลงบนกระดานชนวนแล้วลบ จากนั้นนำผงที่ได้มาปั้นแล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำๆโดยเริ่มจากผงปถมัง ผงอิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ผงที่ได้จึงมีอานุภาพสูงสุด ส่วนผสมอื่นๆ ได้แก่ ใบลานเผา ดอกไม้แห้ง เศษจีวรพระ และเนื้อพระประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว เพื่อกันการแตกร้าว
สำหรับขั้นตอนกรรมวิธีนั้น นำเอามวลสารผสมแล้วนำมาตำเป็นเนื้อพระสมเด็จ ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัดออกเป็นชิ้นๆ (เรียกว่า ชิ้นฟัก) นำเนื้อพระสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวน แล้วกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์ ตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัดดอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสานแม่พิมพ์ ของพระสมเด็จฯนั้น เป็นแม่พิมพ์พระอย่างแรกที่เป็นศิลปะแบบ Abstract คือ เป็นลายเส้นรูปพระ แทนที่จะเป็นแบบที่มีรายละเอียดที่เป็นรูปพระเสมือนองค์จริง
แม่พิมพ์ พระสมเด็จฯวัดระฆัง มีทั้งหมด ๕ พิมพ์ คือ
๑. พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ประธาน)
๒. พิมพ์ฐานแซม
๓. พิมพ์เจดีย์
๔. พิมพ์ปรกโพธิ์
๕. พิมพ์เกศบัวตูม
…..พระครูวิสุทธิกิตติคุณ หรือ หลวงพ่อสมชาย กิตติสาโร เจ้าอาวาสวัดอัมพุวราราม ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กล่าวว่า วัดอัมพุวราราม ตั้งอยู่ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๕ ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒งาน ๓ วา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เป็นวัดของทหารชาวรามัญที่มาช่วยรบในสมัยสงคราม ๙ ทัพ เมื่อชนะศัตรูแล้วโปรดให้มาดูแลพระนครด้านทิศเหนือ กลุ่มใหญ่ อีกกลุ่มไปอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชาวรามัญจึงได้สร้างวัดขึ้น
วัดแห่งนี้เริ่มพัฒนาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ สมัยพระครูวิสุทธิกัลยาณคุณ หรือ หลวงพ่อเสริม สุกฺกธมฺโม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างอุโบสถเฉลิมพระเกียรติพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ด้วย แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ท่านก็ละสังขารไปก่อน และได้ถูกสานต่อโดย พระครูวิสุทธกิตติคุณ (สมชาย กิตติสาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา มักมาบนบานศาลกล่าวขอพรให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว และโชคลาภสมหวังไปทุกราย นั่นก็คือ “พระพุทธรูปหลวงพ่อโต” ขนาดหน้าตัก ๔๙ นิ้ว ปางมารวิชัย ประดิษฐานภายในวิหารหลังเล็ก หลวงพ่อพระพุทธรูปชินราชจำลอง ขนาดหน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว ประดิษฐานบนอุโบสถเฉลิมพระเกียรติชั้นบน รูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)และที่สำคัญ ทางวัดได้จัดสร้างพระสมเด็จฯพิพม์เกศทะลุซุ้ม ที่ถือว่าเป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้ามาทำบุญไหว้พระที่วัดอุมพุฯ ได้ทุกวัน
เรื่องโดย..ไตรเทพ ไกรงู
(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: