ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยยึดกฏเหล็กตัดสิทธิผู้ไม่ไปเลือกตั้ง
การประชุม สนช.วันนี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และที่มาของ ส.ว. ซึ่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการ รายงานสรุปว่า ได้มีการแก้ไขใน 8 มาตรา เช่น มาตรา 73 กำหนดไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.จัดมหรสพในช่วงเลือกตั้ง , มาตรา 86 การปรับเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง เป็น 8.00-17.00 น., มาตรา 62 วรรค 2 กำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง และ มาตรา 35 ยังยืนยันให้ตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามลงสมัครตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. ส.ว.และห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ไม่ไปใช้สิทธิ
ที่ประชุม สนช.ได้อภิปรายในประเด็นการตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ว่าอาจมีการเลือกปฏิบัติและอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพเท่าเทียมกัน แต่สุดท้าย สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 หลังจากนี้จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป เว้นแต่จะมีการยื่นตีความร่างกฏหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะต้องชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น
ที่ประชุม สนช.ยังพิจารณาร่าง พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โดยมีการปรับแก้ 2 ส่วน คือ บทหลัก มีการปรับแก้กำหนดให้ ส.ว.มาจากกลุ่มสังคม 20 กลุ่ม และสามารถสมัครแบบอิสระได้อย่างเดียว โดยใช้วิธีเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มสังคมกับเลือกกันเอง และเพิ่มอำนาจศาลฎีกา สามารถมีคำสั่งตัดสิทธิการเข้ารับสมัครการเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง หรือใบแดง แก่ผู้ที่ทุจริตการเลอืกตั้งได้
ส่วนการแก้ไขในบทเฉพาะกาล แก้ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากกลุ่มสังคม 10 กลุ่ม ใช้วิธีเลือกกันเองภายในกลุ่มอย่างเดียว และสามารถสมัครได้ 2 แบบ คือ สมัครอิสระ กับองค์กรรับรอง ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันว่า การแก้ไขดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถส่งคนมาสมัคร เพิ่มช่องทางในการสมัครเข้ามาเป็น ส.ว.ได้มากขึ้น ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบ 202 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง จากนั้น สนช.จะส่งร่างกฏหมายให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: