นครปฐม ม.เกษตรฯ กำแพงแสน โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดง ใช้โบท็อกซ์รักษาช้าง “พังรุ่งนภา” เพศเมีย วัย 50 ปี หลังมีอาการก้ามเนื้อขากรรไกรแข็งเกร็งอ้าปากไม่ได้ จนเป็นผลสำเร็จรายแรกของโลก อย่างภาคภูมิใจ
วันนี้ (5 ก.ค.62) ที่อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน เป็นประธานในการแถลงข่าวการประสบความสำเร็จ ของการใช้โบท็อกซ์ในการรักษาช้างพังรุ่งนภา เพศเมีย อายุ 50 ปี หลังมีอาการก้ามเนื้อขากรรไกรแข็งเกร็งอ้าปากไม่ได้ จนเป็นผลสำเร็จรายแรกของโลก
ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจากทีมรักษา ประกอบด้วย รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,อ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,น.สพ.ทวีโชค อังควานิช สถาบันคชบาลแห่งชาติในอุปถัมภ์ฯ,สพ.ญ.วรางคณา ลังกาพินธุ์ สถาบันคชบาลแห่งชาติในอุปถัมภ์ฯ,ผศ.น.สพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ พญ.พรเอื้อ บุญยไพศาลเจริญ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมชี้แจงในการรักษาอาการของช้างพังรุ่งนภา พร้อมใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจเช็คดูอาการก้ามเนื้อขากรรไกรทั้งสองข้างของช้างพังรุ่งนภา ซึ่งก็พบว่ามีอาการปกติ และสามารถอ้าปากและกินอาหารได้อย่างปกติแล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการรักษาอาการของช้างพังรุ่งนภาในครั้งนี้ว่า เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการรับตัวช้างพังรุ่งนภา ที่มีอาการกินอาหารไม่ได้ ขากรรไกรเกร็งอ้าปากไม่ได้ จึงทำการรักษาอยู่ประมาณ 10 วัน ก็พบว่ามีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ รวมทั้งยังมีอาการของเลือดจางอีกด้วย
จึงตัดสินใจส่งไปรักษายังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ จังหวัดลำปาง เพื่อให้เลือดรักษาชีวิตเอาไว้ แต่ก็ยังพบอาการไม่ดีขึ้น จึงต้องใช้วิธีปั่นอาหารให้กินทางสายยาง และรักษาด้วยการทำฟันและฉายเลเซอร์ เพื่อกระตุ้นก้ามเนื้อและระบบประสาท ก็พบว่ามีอาการดีขึ้นเล็กน้อยต่อมาทีมแพทย์ได้ทำการวินิจฉัยและปรึกษาร่วมกัน ก็พบว่าอาการไม่ได้เกิดจากกระดูก แต่เกิดจากก้ามเนื้อขากรรไกร
จึงสรุปด้วยการทดลองฉีดโบท็อกซ์ จนกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ ก็พบว่าช้างพังรุ่งนภา เริ่มมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาอีก 1 เดือนจึงฉีดโบท็อกซ์ซ้ำให้อีก 1 ครั้ง พร้อมทำการอัลตร้าซาวด์ตรวจเช็คดูอาการก้ามเนื้อขากรรไกรทั้งสองข้าง ก็พบว่าอาการดีขึ้น และสามารถกินอาหารได้ดี แม้กระทั่งอ้อยแข็ง ๆ ก็สามารถเคี้ยวกินได้ ดังนั้นจึงได้มีการนำตัวช้างพังรุ่งนภา กลับมารักษาตัวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้ง
แล้วทำการประเมินพร้อมฉีดโบท็อกซ์ให้อีก 1 ครั้ง เป็นครั้งที่ 3 จนกระทั่งวันนี้ได้มีการอัลตร้าซาวด์ตรวจดูอีกครั้ง ก็พบว่าก้ามเนื้อสามารถขยับตัวได้ดีขึ้นเป็นปกติ จึงไม่ต้องทำการฉีดโบท็อกซ์ให้ เนื่องจากมั่นใจว่าเขาหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งอาการแบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นการรักษาที่ได้ผลเป็นรายแรกของโลกอีกด้วย
พิสิษฐ์ ปานวณิชยกิจ – ขนิษฐา ชื่นยินดี / ภาพ-ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: