X

กาฬสินธุ์ส่อโครงการ 9101 ชุมชนบัวบาน ซื้อพันธ์ข้าว-ปลาดุกแพง

พบโครงการ 9101 ชุมชนบัวบาน ซื้อพันธ์ข้าว-ปลาดุกแพง สตง.กาฬสินธุ์จ่อสอบ อึ้ง! พบการเสนอจัดซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์แพง โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง ปุ๋ย ปลาดุกและหัวอาหาร ชาวบ้านหวั่นเอื้อประโยชน์นายทุน ขณะที่สตง.กาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่อลงพื้นที่ตรวจสอบ ระบุหากพบการทุจริตดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที


เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามการดำเนินการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังต้องการให้เกษตรกรที่ปะสบอุทกภัยมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนหลังน้ำลด ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยจากพายุตาลัส และพายุเซินกา โดยได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการครัวเรือนละ 5,000 บาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการจัดหาปัจจัยการผลิต ดำเนินกิจกรรมตามแผนดำเนินงานของเกษตรภายใต้กิจกรรม 4 ประเภท ได้แก่ การปลูกพืชอายุสั้น การลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตร และการประมง โดยผ่านการดำเนินของคณะกรรมการระดับชุมชนและคณะกรรมการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนระดับอำเภอ

โดยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีการดำเนินการจำนวน 161 ชุมชน 392 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,913 ครัวเรือน ครอบคลุม 18 อำเภอ รวมจำนวนเงิน 139,585,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมานายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำพิธีลงนามข้อตกลงกับคณะกรรมการชุมชน เพื่อที่จะร่วมกันดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการระดับอำเภอ และคณะกรรมการชุมชนดำเนินการอย่างโปร่งใส ตามระเบียบขั้นตอนและตรวจสอบได้ ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนและเปิดให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตามนโยบายของทางจังหวัด
แต่ล่าสุดกลับพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101

ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ของกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 และกลุ่มชุมชนบัวบาน 2 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากพบเอกสารการเสนอโครงการ เพื่อที่จะจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าความเป็นจริงและแพงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังมีการกำหนดราคาซื้อไว้ในราคาสูงถึงกระสอบละ 700 บาท พันธุ์ปลาดุกเสนอและกำหนดไว้ราคาสูงถึงตัวละ 3 บาท และหัวอาหารปลาดุกราคากระสอบละ 550-600 บาท นอกจากนี้ยังมีการเสนอราคาในการซื้อปุ๋ยชีวภาพไว้สูงกระสอบละ 550 บาทอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่เกรงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน มากกว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากราคาพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ยชีวภาพในพื้นที่ต่างๆนั้นได้กำหนดราคาซื้อไว้ตามความเหมาะสมของราคาตลาด และระยะทางการขนส่ง โดยพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังเฉลี่ยกระสอบละประมาณ 400-500 บาท พันธุ์ปลาดุกสูงสุดราคาไม่เกิน 2 บาท และราคาหัวอาหารเฉลี่ยประมาณ 450 บาท ส่วนราคาปุ๋ยชีวภาพนั้นประมาณ 400-450 บาท ดังนั้นจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง.กาฬสินธุ์ ปปท.และกอ.รมน.กาฬสินธุ์ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

นายผดุง นิสังกาศ อายุ 51 ปี เกษตรกรใน ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยพื้นที่การเกษตรนาข้าวถูกน้ำท่วมขังนานได้รับความเสียหายไปหลายสิบไร่ ซึ่งปัจจุบันยังคงรอคอยรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ ทั้งนี้ทราบว่าปัจจุบันมีโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย โดยตนและครอบครัวรู้สึกดีใจอย่างมาก ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมาก็จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง ส่วนกรณีมีการที่จะซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังกระสอบละ 700 บาทนั้น ถือว่าเป็นราคาที่แพงมาก เพราะเท่าที่ทำนามาหลายสิบปีไม่เคยเห็นใครซื้อข้าวเปลือกแพงขนาดนี้ อีกทั้งราคาในท้องตลาดทั่วไปก็ไม่สูงถึงกระสอบละ 700 บาท ทั้งนี้หากซื้อแพงเกินไปก็จะอาจจะกลายเป็นนายทุนได้ประโยชน์มากกว่าเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และเวลาเกษตรกรนำไปขายข้าวเปลือกกลับได้ราคาถูก ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูเรื่องดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องดังกล่าวเบื้องต้นทาง สตง.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูล และเตรียมลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งหากพบการกระทำผิด ที่ส่อในทางทุจริตก็จะดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทันที พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน