สำนักศิลาปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช สำรวจภาพเขียนสีรูปช้าง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุ 3-4พันปี ที่เพิงผาถ้ำเขาพรุตีมะ-ช่องลม อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังชาวบ้านสำรวจพบเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นภาพหาดูยาก เตรียมรวบรวมข้อมูลขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถานพบบางภาพ เริ่มผุกร่อน เตรียมประสานนักวิทยาศาสตร์มาสำรวจเพื่อหาทางป้องกัน
นางเสริมกิจ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 (นครศรีธรรมราช) นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ร่วมสำรวจ ภาพเขียนสีโบราณที่บริเวณเพิงผาถ้ำเขาพรุตีม๊ะ-เขาช่องลม บ้านคีรีวง ม.6 ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังชาวบ้านสำรวจพบเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อมูล เตรียมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถาน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เนื่องจากมีการสำรวจพบภาพเขียนสีจำนวนมาก และมีรูปร่างที่หลากหลาย
ข่าวน่าสนใจ:
โดยการสำรวจในวันนี้คณะที่สำรวจต้องเดินเท้าผ่านสวนปาล์มน้ำมันและป่าพรุลัดเลาะไปตามเชิงเขาระยะทางกว่า300 เมตร เมื่อไปถึงพบเป็นเพิงผาริมเขาสูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร มีถ้ำหินงอกหินย้อยรูปร่างสวยงาม เจ้าหน้าที่พบภาพเขียนสีเป็นรูปคนและสัตว์ ลักษณะกำลังทำกิจกรรมต่างๆกระจายตามซอกและเพิงผาจำนวนมาก ซึ่งแต่ละรูปมีขนาด สูงประมาณ 5 -20 เซนติเมตร รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า60 ภาพ และภาพที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คืบภาพช้าง มีขนาดสูงประมาณ 30 ซม. ที่มีการใช้สีดำเขียนลงบนผนังมองเห็นได้อย่างชัดเจน ใกล้ๆกันมีภาพลิงไต่เถาวัลย์ เรียงกันแนวตั้งจำนวน 7 ตัว และด้านล่างมีรูปคนยืนยิงธนู นอกจากนี้เมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจบริเวณเพิงผาห่างจากจุดดังกล่าวประมาณ200 เมตร ก็พบรูปช้างอีก 2 ภาพ แต่สภาพสีเริ่มหลุดร่อนออกไปบางส่วน สร้างความตื่นเต้นแก่นักท่องเทียวที่เข้ามาร่วมสำรวจเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาพเขียนสีรูปช้างไม่เคยพบมาก่อนในจังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกภาพไว้ เพื่อรวมรวมข้อมูล เสนอให้กรมศิลปากร พิจารณา ประกาศเป็นแหล่งโบราณสถานต่อไป
นางเสริมกิจ กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้ สืบเนื่องจากนักโบราณคดีกรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจแล้ว โดยละเอียด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอให้ทางกรมศิลปากรพิจารณา ซึ่งจากการได้เข้ามาสำรวจในวันนี้พบว่าเป็นภาพเขียนสีที่ทำจากยางไม้และแร่บางชนิด ซึ่งอยู่ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3-4 พันปี เป็นภาพกิจกรรม การใช้ชีวิตของคนในสมัยนั้นเช่น ภาพคน ภาพเรือ ลิง ช้างและสัตว์น้ำ เป็นต้น ถือว่าพบจำนวนมาก และมีความหลากหลาย เมื่อเทียบกับแหล่งภาพเขียนพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะภาพช้างที่หาดูยาก
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่า ภาพเขียนสีบริเวณดังกล่าว มีบางภาพ เกิดการหลุดร่อนไปบางส่วน และกำลังเริ่มจางหายอีกหลายภาพ ซึ่งขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้ประสาน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาตรวจดูอีกครั้งว่าจะมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไรในส่วนของภาพที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดร่อนเพื่อให้ยืดอายุหรือผนึกภาพให้มีความคงทนมากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: