X
ชกประตูลิฟท์

หนุ่มพิการแจงเหตุทุบลิฟท์บีทีเอส เล็งฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ชี้แจงเหตุผลที่ทุบประตูลิฟท์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก ชี้ลิฟท์ออกแบบผิดพลาด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยแก้ไข ลั่นหากภายใน 1 อาทิตย์ ไม่มีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะฟ้องร้องเรียงตัว ทั้งบีทีเอส กทม.และกระทรวงคมนาคม

นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค Accessibility Is Freedom และประธานคณะติดตามกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้  เปิดใจถึงกรณีที่ใช้กำปั้นทุบประตูลิฟท์จนแตกร้าวเมื่อวานนี้  โดยนายมานิตย์เล่าเหตุการณ์ว่า วันเกิดเหตุใช้เส้นทางจากห้างสรรพสินค้าที่เชื่อมต่อกับสถานี มาที่บริเวณจำหน่ายตั๋วของสถานีอโศก ซึ่งตามกฏของบีทีเอส ผู้พิการจะได้รับสิทธิในการโดยสารฟรี

ชกลิฟท์บีทีเอส 1

แต่เมื่อต้องการใช้ลิฟท์เพื่อไปขึ้นไปชานชาลา เจ้าหน้าที่กลับขอดูบัตรประจำตัวและขอให้เซ็นชื่อ  ซึ่งมีเพียงสถานีอโศกเพียงสถานีเดียว ที่ต้องให้ผู้พิการเซ็นชื่อในสมุดบันทึก  แต่นายมานิตย์ปฏิเสธและพยายามอธิบายสิทธิ  แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม และบอกว่าหากไม่เซ็นชื่อก็ไม่สามารถเดินทางได้

ใบเซ็นชื่อขึ้นลิฟท์

นายมานิตย์ จึงไปซื้อตั๋วเดินทางเหมือนผู้โดยสารปกติ  และจะไปใช้บริการลิฟท์ แต่ลิฟท์กลับล็อค และบริเวณดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว มีเพียงเจ้าหน้าที่ รปภ.ที่ทำหน้าที่ตรวจสัมภาระผู้โดยสารเพียงคนเดียว  ทำให้นายมานิตย์โมโห และใช้กำปั้นทุบประตูลิฟท์

นายมานิตย์ยอมรับว่า สิ่งที่ทำลงไปเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสนใจ หรือความสงสาร อย่างที่โซเชียลบางกลุ่มวิจารณ์ เพียงแต่ต้องการให้สังคมได้รับรู้ปัญหาของผู้พิการ ที่ต้องทนกับการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งที่รถไฟฟ้าก่อสร้างมานานถึง 23 ปี แต่กลับไม่แก้ไขปรับปรุง แม้จะมีคำสั่งของศาลปกครอง ให้กระทรวงคมนาคม บีทีเอส และกทม.เร่งสร้างลิฟท์ให้ผู้พิการครบทุกสถานี แต่กลับดำเนินการล่าช้า ทำให้ผู้พิการต้องอดทนอดกลั้นกับความไม่เท่าเทียมกันมาตลอด

นายมานิตย์และเครือข่ายผู้พิการ ที่มาร่วมกันเปิดใจวันนี้ เปิดเผยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าตั้งแต่แรก ไม่ได้สร้างลิฟท์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ จนกระทั่งมีการเรียกร้อง จึงแก้ไขและก่อสร้างลิฟท์บางสถานี แต่เป็นการออกแบบที่ผิดพลาด คือ สร้างเป็นลิฟท์ยาวที่สามารถขึ้นทะลุไปทุกชั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้ กระทบความปลอดภัยและการจำหน่ายตั๋ว จนสุดท้ายต้องใช้วิธีล็อกกุญแจไม่ให้ใช้บริการ ทั้งที่วิธีแก้ไขที่ง่ายและดีกว่านี้ แต่กลับไม่ทำ

ลิฟท์บีทีเอส

เครือข่ายผู้พิการ ระบุว่า ผู้พิการไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษ และยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อตั๋วเหมือนกับผู้โดยสารคนอื่น แต่ต้องการเข้าถึงการเดินทาง ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถเดินทางเองได้ โดยไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน  และการสร้างลิฟท์ก็ใช้งบประมาณน้อยกว่าการจ้างที่ปรึกษาในโครงการแต่ละโครงการด้วยซ้ำ

พร้อมระบุว่า สิ่งที่นายมานิตย์กระทำ อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ต้องการให้สังคมหันมาใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้มากกว่านี้  รวมทั้งที่ออกมาเรียกร้อง ก็ไม่ได้เรียกร้องแค่สิทธิของผู้พิการเท่านั้น แต่เห็นว่าบุคคลอื่นที่มีความจำเป็น เช่นผู้ป่วยฉุกเฉิน หญิงตั้งครรภ์ คนชรา รถเข็นเด็กอ่อน หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่มีสัมภาระมาก ก็ควรได้ใช้ประโยชน์จากลิฟท์เช่นกัน

นายมานิตย์ ยืนยันว่า การทุบประตูลิฟท์ ไม่ได้เลียนแบบกรณีป้าทุบรถที่จอดขวางหน้าบ้าน  และกำลังพิจารณาดำเนินการทางกฏหมายกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวหรือความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง

“ถ้าท่านเป็นผู้พิการนั่งรถเข็นแบบผมบ้าง แล้วท่านจะเข้าใจเรา   ผมกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฏหมายอย่างไร  ถ้าภายใน 1 อาทิตย์ไม่มีการเคลื่อนไหว แก้ไขเปลี่ยนแปลง ผมจะฟ้องกระทรวงคมนาคม บีทีเอส และกทม.” นายมานิตย์กล่าว

ก่อนหน้านี้ กลุ่มเครือข่ายผู้พิการ เคยรวมตัวกันฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุด  ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาให้จัดทำลิฟท์ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งครบกำหนดวันที่ 21 มกราคม 2559

แต่เมื่อครบกำหนด นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้แถลงข่าวชี้แจงว่า การก่อสร้างลิฟท์ผู้พิการ  สร้างไม่เสร็จตามกำหนด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ตระเวนแจกแผ่นพับคำชี้แจงและคำขอโทษของ กทม. โดยให้เหตุผลว่า ติดปัญหาใหญ่ คือ การขอใช้พื้นที่หน้าอาคารบ้านเรือนประชาชนในการติดตั้งลิฟท์ บางส่วนกลัวว่าลิฟท์จะบดบังภูมิทัศน์ ทำให้ กทม.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนผู้รับจ้างก่อสร้างได้

กระทั่งวันที่ 3 มีนาคม 2560 กทม.และบีทีเอส เปิดใช้ลิฟท์ผู้พิการที่สร้างเพิ่มเติม  4 สถานี  คือ ราชดำริ พร้อมพงษ์ ทองหล่อ และอ่อนนุช  ซึ่งตามข้อมูลในเว็บไซต์ของรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้บริการทั้งหมด 2 สาย 36 สถานี และมีลิฟท์ให้บริการทั้งหมด 17 สถานี คือ สถานีหมอชิต  สถานีสยาม  สถานีอโศก  สถานีอ่อนนุช สถานีบางจาก     สถานีปุณณวิถี สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีแบริ่ง สถานีสำโรง สถานีช่องนนทรี สถานีกรุงธนบุรี  สถานีวงเวียนใหญ่  สถานีโพธิ์นิมิตร สถานีตลาดพลู สถานีวุฒากาศ และ สถานีบางหว้า

เว็บบีทีเอส

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน