วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2562 เวลา 8.00 น. ด้วยได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลน่าน ว่า มีผู้ป่วยเด็กนักเรียนจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง จำนวน 9 ราย เข้ามารับบริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลน่าน ด้วยอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ไม่มีอาเจียน อ่อนเพลีย จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า คุณครูได้พานักเรียน จำนวน 200 คน มาเข้าค่ายที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 อาหารกลางวัน คือ ข้าวราดหมูผัดกระเพรา ส่วนมื้อเย็น แกงเผ็ดไก่ใส่ฟักทอง แต่มีนักเรียนบางส่วนได้นำผัดกระเพราที่เหลือจากมื้อกลางวันมารับประทานด้วย หลังจากนั้น เด็กนักเรียนจำนวน 10 ราย ได้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว คุณครูจึงได้พานักเรียน 9 รายมารักษาที่โรงพยาบาลน่าน ส่วนอีกรายหนึ่งอาการไม่รุนแรง ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง ได้รับยาแล้วกลับได้ และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยนักกีฬานักเรียนอาชีวะ ที่มาแข่งขันกีฬาอาชีวศึกษา ที่จังหวัดน่าน จำนวน 3 ราย มารักษาที่โรงพยาบาลน่าน ด้วยอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว มีประวัติรับประทานข้าวมันไก่ ซึ่งผู้จัดงานนำมาให้ตั้งแต่มื้อกลางวัน แต่นำมารับประทานตอนเย็น จึงมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว แพทย์โรงพยาบาลน่าน ได้ให้การรักษา และสามารถกลับบ้านได้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิโรงพยาบาลน่าน ให้ข้อมูลว่า อาหารที่นำมาให้แก่ นักเรียนที่เข้าค่ายจำนวนมาก หรือ นักกีฬาที่มาร่วมงาน มักจะเตรียมไว้ตั้งแต่เช้ามืด เพื่อใช้ในการรับประทานตอนกลางวัน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้อาหารจนเดือดหรือร้อนจัด แบคทีเรียตายหมด แต่ในระหว่างการตักอาหาร หรือใส่ภาชนะ ยังมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้อีก รวมทั้งความร้อนระดับน้ำเดือดยังไม่สามารถฆ่าสปอร์ของเชื้อได้ ถ้าเวลาที่ผ่านนานเกินไป เช่นนำไปรับประทานในช่วงเย็น อาจจะทำให้อาหารเกิดการบูดเน่า หรือแบคทีเรียย่อยอาหารแล้วเพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่รับประทานอาจจะมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้ ถ้าเป็นแบคทีเรียชนิดที่สร้างสารพิษผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนมากกว่าถ่ายเหลว แต่ถ้าแบคทีเรียที่โจมตีเซลล์โดยตรงจะถ่ายเหลวมากกว่าอาเจียน ดังนั้น หากไปร่วมงานแล้วรับอาหารกล่องมา จึงควรรับประทานทันที หรือถ้าไม่รับประทาน ต้องนำเข้าตู้เย็น และไม่ควรนำมารับประทานถ้าทิ้งไว้นานเกินไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดอาหารด้วย โดยถ้าเป็นอาหารที่แบคทีเรียชอบหรือย่อยได้ง่ายเช่นอาหารที่มีน้ำตาลหรือ กะทิ จะเสียและบูดได้เร็วกว่า และกรณีที่นำอาหารมาอุ่นให้ร้อนจัดหรือเดือด ก็ไม่รับประกันว่ารับประทานแล้วจะไม่มีอาการท้องเสีย เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดจะสร้างสารพิษ และสารพิษส่วนใหญ่จะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน โดยสรุปในช่วงนี้ แม้ว่าจะเข้าฤดูฝน แต่อากาศในเวลากลางวันยังร้อนอยู่มาก ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิที่แบคทีเรียแบ่งตัวได้ดีที่สุดคือ 30-45 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ทำทิ้งค้างไว้ อาหารที่ข้ามมื้อควรนำเข้าตู้เย็น เพื่อชะลอการแบ่งตัวของแบคทีเรีย และนำมาอุ่นให้ร้อนจัดก่อนนำมารับประทานอีกครั้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- โหดเหี้ยม!หนุ่มถูกมีดฟันยับดับกลางถนน คาดทะเลาะในวงเหล้า
- พะเยา หนุ่มขโมยย่องฉกเงินร้านข้าวมันไก่ 3 ครั้งเจ้าของสุดทนแจ้งตรจับ
- กาญจนบุรี พิธีตักบาตรพระ 10,000 รูป ฉลองตั้งเมือง 193 ปี พร้อมอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณต่อประเทศชาติ
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: