สระแก้ว – ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเปิดใจระบุ ปัญหาฮุบพื้นที่ป่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มีพื้นที่อยู่แค่ 8 ไร่ 2 งาน จากแผนที่ สก.175 ไม่เกี่ยวเลยกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเลย หากจำเป็นต้องใช้ป่าที่ ตชด.ดูแลในเขต ต.ป่าไร 161 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งระบบสาธารณูปโภคไม่เกิน 50 ไร่
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 13 มี.ค.61 นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้สัมภาษณ์พิเศษ กรณี กอ.รมน.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในบริเวณกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว และมีชาวบ้านในพื้นที่ยื่นเรื่องคัดค้านว่า ได้ตรวจสอบว่าเป็นโครงการที่ทางตำรวจตระเวนชายแดนได้ริเริ่มในการเสนอโครงการมา ตอนนี้จังหวัดตรวจสอบไปที่ส่วนกลางว่า ได้มีรายชื่อนี้อยู่ในบัญชีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ อยู่หรือไม่ เพราะเช็ครายละเอียดแล้ว พื้นที่ที่กันโครงการนี้ มีพื้นที่อยู่แค่ 8 ไร่ 2 งาน ซึ่งถ้าดูจากแผนที่ สก.175 จะอยู่ด้านท้ายล่างสุด ซึ่งไม่เกี่ยวเลยกับพื้นที่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้พื้นที่ ต.ป่าไร่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย จึงอยากชี้แจงให้ทราบในเบื้องต้น
นายพรพจน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากทางกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 ยังไม่ได้ส่งคืนพื้นที่ กรมธนารักษ์จึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ ในการนำพื้นที่คืนมาเพื่อทำประโยชน์ต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ต้องรอทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งคืนพื้นที่ ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ หยุด ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำผังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล จึงได้มีการจัดทำผังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเบื้องต้น เป็นพื้นที่สีม่วงคาดขาว แต่โดยหลักการจริง ๆ พื้นที่ส่วนดังกล่าวซึ่ง ตชด.ดูแลอยู่ จะเป็นที่ตั้งของระบบสาธารณูปโภค ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ไม่เกิน 50 ไร่
ข่าวน่าสนใจ:
” ขณะนี้เรามีเนื้อที่อยู่ 161 ไร่ ในเขต ต.ป่าไร่ อยู่ในพื้นที่ที่ ตชด.ดูแลอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 ใช้ประโยชน์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ” ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าว
สำหรับประวัติที่ราชพัสดุ แปลง สก.175 ที่ตั้งกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 พบว่า เมื่อปี พ.ศ.2502 กก.ตชด.12 ได้ขอกันพื้นที่ว่างเปล่าในเขตป่าเขาฉกรรจ์ฝั่งเหนือ จำนวน 2,500 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งหน่วย เดิมมีที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลอรัญประเทศ และใช้เป็นพื้นที่ฝึกการรบในป่า, สนามยิงปืน และได้ถูกนำขึ้นเป็นที่ราชพัสดุในปี พ.ศ.2516 ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นที่ราชพัสดุ จำนวน 2,500 ไร่ จากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2526 ทางราชการได้ตัดถนนสายอรัญฯ-บ้านป่าไร่ จึงทำให้พื้นที่ถูกแบ่งเป็น 2 แปลงคือ 1.แปลง สก.175 ที่ตั้ง กก.ตชด.12 ปัจจุบัน และ 2.แปลง สก.322 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองร้อย ตชด.126
โดยในปี พ.ศ.2538 กก.ตชด.12 ได้นำพื้นที่จำนวน 8 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่พักอาศัยของค้างคาวแม่ไก่ จัดทำและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานโครงการอนุรักษ์ฯ ทุก ๆ ปี และเนื่องจากพื้นที่ป่าในที่ราชพัสดุเดิม ประชาชนได้เข้าไปตัดไม้ไปใช้ประโยชน์เป็นไม้ฟืนหรือเผาถ่าน แต่หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเห็นว่า ป่าไม้และความหลากหลายของประเทศลดน้อยลง จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันดูแลรักษาป่าทั้งผืนร่วมกัน ทาง กก.ตชด.12 จึงได้ห้ามมิให้ประชาชนเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าอีก และช่วยกันปลูกป่าเสริมในบางแห่งตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเรื่อยมาเกือบทุก ๆ ปี
กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ในปี พ.ศ.2557 กก.ตชด.12 ได้เล็งเห็นว่า ป่าไม้ในพื้นที่กลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีความหลากหลาย ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง มีพืชชั้นกลาง พืชชั้นล่าง พืชมีหัวใต้ดิน พืชอาหาร และพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ อีกทั้งยังพบว่า มีสัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น อีเห็น ไก่ป่า กระรอกกระแต บ่าง ค้างคาวแม่ไก่ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด แย้ นกชนิดต่าง ๆ จึงเห็นควรขยายพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ไร่ โดยนำขึ้นทูลเกล้าฯ และมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงมาตรวจพื้นที่แล้ว
แต่ปรากฏว่า ปีนั้นรัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่ราชพัสดุแปลง สก.175 และ สก.322 รวมกัน จำนวน 1,365 ไร่ เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยรับฟังเฉพาะรายงานของหน่วยงานบางหน่วย ซึ่งระบุว่า พื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งขัดกับความเป็นจริงชัดเจน ส่งผลให้สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบ้านใหม่หนองไทร ประมาณ 20 คนได้ทำหนังสือ พร้อมรายชื่อประชาชนในเขตตำบลบ้านใหม่ฯ และตำบลใกล้เคียงกว่า 1,000 คน เข้ายื่นต่อ พ.ต.อ.สมชาย สุวจสุวรรณ ผกก.ตชด.12 เพื่อคัดค้านและทำหนังสือฎีกาในช่วงที่นายภัครธรณ์ เทียนไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหาระยะหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหากลับถูกปกปิดเงียบ
ขณะนั้นสภาองค์กรชุมชนฯ และประชาชน ไม่เห็นด้วยที่จะนำป่าไม้ในที่ราชพัสดุ ซึ่ง กก.ตชด.12 ดูแลใช้ประโยชน์ ไปเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะเป็นพื้นที่ป่าไม้แห่งเดียวที่อยู่คู่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และ กก.ตชด.12 ยังได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าไปเก็บพวกผักหวานป่า, เห็ดชนิดต่าง ๆ ได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ โดยต้องไม่ทำความเสียหายให้กับผืนป่าและห้ามล่าสัตว์
ภายหลังสภาองค์กรชุมชนฯ ได้ดำเนินการถวายฎีกาต่อสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ซึ่งต่อมาสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ส่งผู้แทนมาเยี่ยมดูพื้นที่ และได้แนะนำว่า ให้เร่งดำเนินการพัฒนาใช้ประโยชน์จากป่า อย่าให้ป่าหยุดนิ่ง ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2562 กก.ตชด.12 ได้รับงบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฯ โดยการจัดทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก, ถนนลูกรังรอบพื้นที่ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อความสะดวกในการลาดตระเวนป้องกันการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ ป้องกันไฟป่า และความสะดวกสำหรับเด็ก เยาวชน ลูกเสือ-เนตรนารี ประชาชนทั่วไปที่มาเข้าค่ายอบรม ใช้เดินป่าศึกษาธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ป่าซึ่ง กก.ตชด.12 ดูแลฝั่งขวา ถูกนำไปก่อสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจำนวน 600 ไร่ โดยมีกลุ่มทุนใหญ่ในจังหวัดสระแก้ว เข้าประมูลป่าทั้งแปลงในราคาเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น ล่าสุด มีการขีดเส้นและเปลี่ยนสีผังเมืองใหม่ ภายหลังมีการประกาศให้พื้นที่ ต.ป่าไร่ เป็นเขตอุตสาหกรรม(สีม่วง) ในแปลงที่ดินของ กก.ตชด.12 เดิม แปลง สก.322 และ ขีดเส้นเพิ่ม แบ่งป่าสมบูรณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นพื้นที่สีม่วงอีกแปลง จากที่ดินแปลง สก.175 เนื้อที่ 1,100 ไร่ ที่ตั้ง กก.ตชด.12 เนื้อที่ประมาณ 500 กว่าไร่ เพื่อดำเนินการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยกลุ่มทุนใหญ่กลุ่มเดิมเตรียมเข้าประมูลป่าทั้งแปลงในราคาใกล้เคียงกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: