X

‘สตีเฟน ฮอว์คิง’นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่เสียชีวิต

สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์คิง (Stephen William Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชื่อดัง ผู้ที่อธิบายการขยายตัวของจักรวาลและหลุมดำ เสียชีวิตแล้วในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 76 ปี

ภาพจาก http://www.hawking.org.uk

 

 

สตีเฟน ฮอว์คิงเกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษ ในวัยเด็กเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์แอลแบน จากนั้นเข้าศึกษาต่อสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และรับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาได้เข้าศึกษาที่ทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาจักรวาลวิทยา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2509

หลังจากนั้นก็ได้รับการคัดเลือกเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

ในต้นทศวรรษที่ 1960 (ประมาณ พ.ศ. 2503-2508) สตีเฟน ฮอว์คิงก็มีอาการที่เรียกว่า amyotrophic lateral sclerosis (ALS) อันเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมีผลกับประสาทสั่งการ (motor neurons) นั่นคือ เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะอ่อนแอลงจนเกือบเป็นอัมพาต แต่เขายังคงทำงานวิชาการ

ฮอว์คิงเริ่มทำงานในสาขาสัมพัทธภาพทั่วไป และเน้นที่ฟิสิกส์ของหลุมดำ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ขณะที่กำลังทำงานวิจัยสำหรับดุษฎีนิพนธ์เพื่อทำดุษฎีบัณฑิต ฮอว์คิงได้อ่านรายงานของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ ชื่อ โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose) ซึ่งเพนโรสเสนอทฤษฎีที่ว่าดวงดาวที่ระเบิดอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวเองจะมีปริมาตรเป็นศูนย์ และมีความหนาแน่นเป็นอนันต์ อันเป็นสภาพที่นักฟิสิกส์เรียกว่า ซิงกูลาริตี้(singularity) ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหลุมดำ ซึ่งไม่ว่าแสงหรือวัตถุใดๆ ก็หนีออกมาไม่ได้

ภาพจาก http://www.hawking.org.uk

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2513 ฮอว์คิงและเพนโรสก็ได้ร่วมกันเขียนรายงานสรุปว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ นั้นกำหนดให้เอกภพต้องเริ่มต้นในซิงกูลาริตี้ ซึ่งปัจจุบันนี้รู้จักกันว่าบิ๊กแบง และจะสิ้นสุดลงที่หลุมดำ

ฮอว์คิงเสนอว่า หลุมดำไม่ควรจะเป็นหลุมดำเสียทีเดียว แต่ควรจะแผ่รังสีอะไรออกมาบ้าง โดยเริ่มที่วัตถุจำนวนมหาศาลนับพันล้านตัน แต่มีความหนาแน่นสูง คือกินเนื้อที่ขนาดเท่าโปรตอน เขาเรียกวัตถุเหล่านี้ว่าหลุมดำจิ๋ว (mini black hole) ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงและมวลมหาศาล แต่สุดท้ายหลุมดำนี้ก็จะระเหิดหายไป

การค้นพบนี้ถือเป็นงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของฮอว์คิง

เมื่อ ปี พ.ศ. 2517 เขาได้เป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์แรงโน้มถ่วง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี พ.ศ. 2520 และเมื่อในปี พ.ศ. 2522 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน” (Lucasian Chair of Mathematics – เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2206 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) บุคคลที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนี้ก็คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน คนทั่วไปจึงเปรียบเทียบสตีเฟน ฮอว์คิง กับนิวตันและไอนสไตน์)

สตีเฟน ฮอว์คิงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่นักฟิสิกส์จะพัฒนาทฤษฎีที่จะรวมเอาแรงทั้ง 4 ของธรรมชาติเข้าด้วยกัน นั่นคือ แรงโน้มถ่วง, แรงแม่เหล็กไฟฟ้า, แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน และแรงนิวเคลียร์แบบเข้ม อันจะนำไปสู่ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (Theory of Everything) ที่เคยกล่าวกันมา ส่วนเรื่องการขยายตัวของเอกภพนั้น ฮอว์คิงเชื่อว่า เอกภพขยายตัวออกไปโดยมีความเร่ง

ผลงานของฮอว์คิง 

Plan of The Blume “Road to Smart City” (1965)
A Large Scale Structure of Space-Time ร่วมกันเขียนกับ G.F.R. Ellis (1973)
Superspace and Supergravity (1981)
The Very Early Universe (1983)
A Brief History of Time : from the Big Bang to Black Holes (1988)
Black Holes and Baby Universe and Other Essays (1994)
The Universe In A Nutshell (2001)
The Grand Design ร่วมกันเขียนกับ Leonard Mlodinow (2010)

ข้อมูลจาก วิพิพีเดีย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทศพร โชคชัยผล

ทศพร โชคชัยผล

ทำงานข่าวกว่า 20 ปี มีความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ ผ่านประสบการณ์ทำข่าวสายเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล