ขอนแก่น – “สมาร์ทสองแถว” สำหรับสมาร์ทซิตี้ ด้วยการสนับสนุนของเทศบาลนครขอนแก่น ในการพัฒนารถสองแถวเพื่อให้การเดินทางในขอนแก่น สะดวกสบาย และเหมาะสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนโฉมหน้าสองแถวแบบดั้งเดิมของขอนแก่น เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเทศบาลนครขอนแก่น TEDxKhonKaen และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Jica) มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นสมาร์ทซิตี้ในทุกด้าน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
เมื่อหันมามองรถสองแถว ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนหลักที่อยู่คู่กับชาวขอนแก่นมานานหลายทศวรรษ ให้บริการประชาชนทุกกลุ่มตั้งแต่รากหญ้า ผู้มีฐานะ หรือชาวต่างประเทศ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมการเดินทางก็เปลี่ยนตามไปด้วย จึงจำเป็นที่สองแถวต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ ตอบโจทย์เมืองที่กำลังเป็นสมาร์ทซิตี้
กลุ่มเมล์เดย์ ซึ่งประสบความสำเร็จกับการปรับโฉมรถเมล์ ขสมก.ที่กรุงเทพฯ ได้จับมือกับกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ที่เรียกตัวเองว่า “KHON KAEN MOVE” จัดเวิร์กช็อป ‘เปลี่ยนสองแถวขอนแก่นให้แลนหัน’ เป้าหมายคือการพัฒนา “สมาร์ทสองแถว” (Smart Songtaew) ด้วยการหาวิธีให้ระบบเก่าอย่างรถสองแถวสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการเดินทางของคนเมืองในปัจจุบันได้มากขึ้น ทั้งนี้ทางกลุ่มได้กำหนดขอบเขตการพัฒนาสองแถวไว้ 3 ด้าน ได้แก่
“Smart Look”
เอกลักษณ์ของรถสองแถวขอนแก่นคือ สีสันของรถที่กระจายตัวอยู่บนท้องถนน รถสองแถวขอนแก่นแบ่งแยกเส้นทางตามหมายเลขควบคู่ไปกับสีตัวรถ บางคันเป็นของบริษัทที่ให้คนขับมาเช่า บางคันเป็นรถส่วนตัวของคนขับเอง ส่งผลให้รูปร่างหน้าตาการตกแต่งรถจะแตกต่างกันไปในรายละเอียด ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน บางคันเก่าโทรมผุพังดูน่าอันตราย บางคันใหม่เอี่ยมเพราะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ส่งผลให้การเดินทางแต่ละครั้งไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“สมาร์ทสองแถว” จึงจะปรับปรุงสภาพรถทั้งภายนอกภายในให้สะอาดสะอ้าน มีลวดลายการออกแบบลายรอบรถที่ดูร่วมสมัย มีสัญลักษณ์บอกเลขสาย และบอกเส้นทางการเดินรถที่ชัดเจน รวมถึงภายในตัวรถก็มีข้อมูลการเดินทางและอัตราค่าโดยสาร ข้อมูลคนขับรถ บอกไว้อย่างครบถ้วน ขึ้นคันไหนก็สบายใจ
“Smart Driver”
การเดินทางไม่ได้มีแค่การย้ายคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดเพียงอย่างเดียว แต่การบริการขณะเดินทางก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้โดยสารให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ที่ผ่านมามีเหตุร้องเรียนเรื่องการให้บริการของคนขับรถสองแถวในขอนแก่นอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเป็นสมาร์ทสองแถวแล้ว คุณลุงคนขับ ขี้โมโห ขับรถเร็ว เก็บค่าโดยสารเกินจะค่อย ๆ หายไป แต่จะพัฒนาบุคลิกภาพและเปลี่ยนแนวคิดในการให้บริการใหม่ เป็นคนขับรถสองแถวที่ภาคภูมิใจในงานของตัวเอง พร้อมให้บริการผู้โดยสารทุกคนอย่างเต็มที่ เพราะสมาร์ทสองแถวก็ต้องขับเคลื่อนด้วยคนสมาร์ทๆ เช่นกัน
“Smart Information”
ด้วยเส้นทางการเดินรถสองแถวที่ซับซ้อนและทับซ้อนกันในปัจจุบัน สมาร์ทสองแถวจึงพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการทำให้เส้นทางกว่า 19 สายทั่วเมืองขอนแก่นอันแสนจะยุ่งเหยิงกลายเป็นแผนภาพที่อ่านง่ายขึ้น มองเห็นภาพรวมของการเดินทางทั่วทั้งเมือง รวมทั้งจะมีการนำเทคโนโลยีบอกตำแหน่งอย่าง GPS มาใช้บอกว่า รถสองแถวที่คุณรอนั้นอยู่ตรงไหนแล้ว เพื่อให้สามารถคำนวณเวลาในการรอรถ ประเมินเวลาในการเดินทางได้แม่นยำขึ้น ไม่ต้องลุ้นว่าจะไปทำงานสาย โรงเรียนจะเข้า หรือไปประชุมช้าอีกต่อไป
ทางกลุ่มผู้พัฒนาได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงการให้ข้อมูลและบริการ ผ่านกระบวนการ Design Thinking เริ่มต้นตั้งแต่ลงไปศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง สัมภาษณ์ผู้ใช้งานอย่างจริงจัง จากนั้นนำข้อมูลกลับมาทำตัวอย่างทดลอง (Prototype) แล้วลงพื้นที่ทดสอบการใช้งานในสถานการณ์จริง โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เรียนรู้และเข้าใจการใช้งานและปัญหาที่เกิดขึ้นของรถสองแถว วันที่ 10-11 ก.พ.61
ครั้งที่ 2 ร่วมกันสร้างสมาร์ทสองแถวในอนาคต วันที่ 24 ก.พ.61
ครั้งที่ 3 ลงพื้นที่ทดลองทำ prototype ไปใช้ในพื้นที่จริง วันที่ 10 มี.ค.61
วิภาวี กิตติเธียร หัวหน้าโครงการ กลุ่มเมล์เดย์ กล่าวว่า โจทย์ของเราคือว่า ทำยังไงให้สองแถว สมาร์ทขึ้น สำหรับขอนแก่นเองมีความท้าทายส่วนหนึ่งคือ รถสองแถวที่นี่บริหารงานแบบรถร่วมบริการ เจ้าของสัมปทานมีหลายสายมาก รู้สึกว่าจะถึง 20 สาย แต่ก็ได้รับความร่วมมือดี ทางเทศบาลนครขอนแก่นก็เปิดโอกาสให้เรามากว่า จะทำยังไงให้สองแถวได้รับการพัฒนา ซึ่งจากการ workshop ทั้ง 3 ครั้งก็สรุปได้ว่าในส่วนที่ต้องปรับปรุงมี 3 ส่วน
การสื่อสารให้ข้อมูล ขณะนี้ขอนแก่นเพิ่งย้าย บ.ข.ส.ไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งทำให้การเดินทางรวนไปทั้งเมือง จุดนี้การสื่อสารจำเป็นมากว่า ประชาชนสามารถมีทางเลือกขึ้นสายไหนได้บ้าง เพื่อไม่ต้องนั่งรถย้อนไปมา นอกจากนี้การให้ข้อมูลก็มี 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นป้าย เช่น ป้ายรถเมล์ ที่ขอนแก่นจะเหมือนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเรามองว่า ให้ข้อมูลยังไม่เพียงพอ และยังมีพื้นที่ว่างที่จะเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งทางกลุ่มขอนแก่นมูฟก็เห็นด้วย และเขาขอเพิ่มอัตลักษณ์ของขอนแก่นเข้าไปด้วย ก็อาจจะแยกประเภทสี นำลายขิดมาใช้ และส่วนที่สอง คือการทำตัวรถใหม่ จากเดิมที่จะเห็นว่า รถของเราจะเต็มไปด้วยสติกเกอร์บอกเส้นทางรถวิ่งผ่าน แต่ก็ยิ่งทำให้สับสน เราก็เลยมาจัดระเบียบวิธีการให้ข้อมูลบนรถที่เข้าใจง่ายขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่เลอะเทอะ อาจมีลายขิดอัตลักษณ์อิสานตกแต่งให้มีความเป็นท้องถิ่นด้วย
การจัดคิวรถ เพื่อกำหนดระยะเวลาการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ข้อนี้ทำให้เราคิดว่า ทำไมคนถึงไม่ใช้รถสองแถวซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ก็มองว่า เหมือนคนที่ไม่ใช้เพราะเขาไม่สามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้ ไม่รู้ว่าเมื่อไรรถจะมา ไม่รู้ต้องรอนานแค่ไหน ไม่รู้จะถึงจุดหมายเมื่อไร ตรงนี้ก็คิดว่า ถ้าเราสามารถจัดคิวรถให้เป็นระบบได้ ไม่ต้องให้คนขับจอดแช่เพื่อรอให้ผู้โดยสารเต็ม สามารถการันตีรายได้ให้เขา ก็อาจช่วยให้คนมาใช้รถสองแถวมากขึ้น รถติดน้อยลง เรื่องนี้ผู้ร่วมอบรมกับเราเขาได้ลองจัดทำ application ในช่วง 2 อาทิตย์นี้ ทดลองวิธีการกดเรียกคิว วิธีการจัดรถให้สัมพันธ์กับความต้องการผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา ก็นำมาทดลองใช้กับรถสองแถว สาย 4 จะปล่อยรถคิวไหน ช่วงเวลาเท่าไร แล้วก็ดูว่าสามารถรับคนได้ครบไหม คนรอนานหรือเปล่า ก็พบว่า มีประสิทธิภาพดีแต่ยังมีข้อต้องแก้ไขบางด้าน
คุณภาพชีวิตของคนขับรถ เพื่อลดปัญหาที่คนขับต้องขับรถเร็ว น่ากลัว เพราะต้องทำรอบรับคนขึ้นให้มากที่สุดต่อวัน ถ้าเราสามารถการันตีรายได้ให้เขา เช่น ให้ขับตามระบบโดยที่เขาจะมีรายได้ขั้นต่ำ 700 ต่อวัน เขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คำ การเลียง คนขับรถสองแถว สาย 4 ซึ่งเข้าร่วมโครงการพัฒนารถสองแถวครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดทำป้ายบอกเส้นทางบนตัวรถถือว่ามีประโยชน์มาก ผู้โดยสารหลายคนพอใจ ไม่ต้องคอยถามว่ารถจะผ่านที่นั่นที่นี่หรือไม่ รวมถึงชาวต่างประเทศซึ่งทุกวันนี้จะพบเห็นบ่อยขึ้น ก็จะทราบเส้นทางที่รถวิ่งผ่านได้เพราะมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย อยากให้มีการปรับปรุงสองแถวทุกคันให้ดีขึ้นเพราะจะทำให้คนขอนแก่นหันมาใช้สองแถวกันมากขึ้น
หลังจากนี้ทางกลุ่มเมล์เดย์ และ ขอนแก่นมูฟ เตรียมจะนำข้อสรุปจากการทำ workshop ครั้งนี้มานำเสนอในงาน TEDxKhonkaen 2018 วันที่ 7 เมษายนนี้ ไปฟังไอดียสมาร์ทๆ เพื่อเปลี่ยนสองแถวขอนแก่นให้แลนหัน (วิ่งฉิว) กว่าเดิม
ขอบคุณภาพและข้อมูล : Mayday
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: