เปิดมุมมองคนทำสื่อยุคใหม่ จาก 3 ช่องทาง บรรณาธิการข่าว-คนทำเว็บไซต์-พิธีกร ร่วมถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น “เป็นสื่อได้ ใช้สื่อเป็น” ย้ำ “เนื้อหา” สำคัญเป็นอันดับแรก และควรเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ใกล้ตัว และน่าสนใจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอิทธิพลของเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อสารมวลชน ทำให้นักนิเทศศาสตร์ในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวให้ทันกับยุคออนไลน์ที่กลายเป็นเสมือนสื่อหลักซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญ ต่อการดำรงชีวิตของคนไทย
เป็นจุดเริ่มต้นของสัมมนา “สื่อเต็มเลย ครั้งที่ 4” หัวข้อ นิเทศศาสตร์ 4.0 “เป็นสื่อได้ ใช้สื่อเป็น” ที่จัดขึ้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา
ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ได้แก่ เอม – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน), เฟื่องลดา – สรานี สงวนเรือง พิธีกร ฉายานางฟ้าไอที และ หาว – ต่อวงศ์ ซาลวาลา ช่างภาพอิสระ และเจ้าของเว็บไซต์ 2how.com
นภพัฒน์จักษ์ มองว่า กล่าวถึงสื่อในยุค ไทยแลนด์ 4.0 ว่า เนื้อหาสำคัญที่สุด ต้องนำเนื้อหาเนื้อหามาปรับใช้กับเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เข้ากัน ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องล้ำที่สุดเสมอไป แค่เลือกให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอ เพราะการนำเสนอข่าว สิ่งที่สำคัญกว่าเทคโนโลยีและวิธีการ คือ ‘เนื้อหา’
บรรณาธิการข่าวออนไลน์ของเวิร์คพอยท์ บอกด้วยว่า โดยภาพรวม การทำงานของสื่อในประเทศแตกต่างจากสื่อต่างประเทศ ซึ่งมีเสรีภาพในการนำเสนอ และความสนใจของผู้ชมที่มากกว่า สังคมไทยทุกวันนี้ คนมักจดจ่อกับเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ในชุมชนเช่น กรณี หวย 30 ล้าน, ป้าทุบรถ, เสือดำ และละครบุพเพสันนิวาส จนกลายเป็นกระแสโด่งดังในสังคมไทย
สำหรับคนทำข่าว ควรเลือกทำประเด็นที่น่าสนใจ และการทำประเด็นที่ทุกคนต้องรู้ ซึ่งควรนำมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันให้มากกว่านี้ เพื่อให้เป็นประเด็นที่แพร่หลาย หนุนให้นักข่าวกล้าทำประเด็นสำคัญที่คนในสังคมควรรับรู้ สุดท้ายแล้ว ข่าว หรือ ประเด็นอะไรที่มีความเกี่ยวข้องกับคน ประชาชนจะสนใจ
“เทคนิคในการนำเสนอเนื้อหาข่าวนั้น ต้องเปิดเรื่องให้น่าสนใจ หรือที่เรียกว่า Start Strong และจบลงอย่างสร้างความเข้าใจ หรือ End Strongตามที่คุณสุทธิชัย หยุ่น สอนมา เราก็นำมาปรับใช้กับการทำงาน เช่น เวลาไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ถ้าประโยคไหน ฟังแล้วรู้สึกดี น่าสนใจ ก็จะดึงขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเรียงลงไป สิ่งที่สำคัญ คือต้องเปิดให้แรง เพื่อดึงผู้ชมให้ติดตามเรา” นภพัฒน์จักษ์ กล่าว
ด้านนางฟ้าไอที หรือ เฟื่องลดา กล่าวถึงการทำงานในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ว่า มีการทำงานที่แตกต่างกัน ในส่วนของเนื้อหา เมื่อก่อนทำรายการโทรทัศน์ ไม่สามารถเลือกเนื้อหาที่จะนำเสนอได้ แต่จะถูกกำหนดด้วยรูปแบบของรายการ สำหรับบทบาทการเป็นผู้ประกาศข่าวก็จะต้องมีการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องคำนึงถึงผู้ชมจำนวนมาก
หลังจากที่เปลี่ยนมาทำงานในออนไลน์ ทำให้ได้เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น จะนำเสนอเนื้อหาใดก็ได้ สื่อออนไลน์ค่อนข้างจะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ สื่อออนไลน์จะสามารถตรวจสอบได้ว่า มีจำนวนผู้ชมเท่าใด อยู่ในวัยไหน แตกต่างจากสื่อโทรทัศน์ที่ผู้นำเสนอไม่สามารถบอกได้ว่าใครกำลังรับชมอยู่ ณ เวลานั้น
เฟื่องลดา ยังบอกถึงแนวทางการทำงานของเธอด้วยว่า “การสร้างเนื้อหาที่ดีควรจะมี 3 H ประกอบไปด้วย Hub คือ เนื้อหาหลัก, Hero คือ เนื้อหาแบบชูโรง และ Help คือ การทำให้เนื้อหาของงานกลมกล่อมมากขึ้น คือ ควรมีมุมของมนุษย์ หรือ Human และมุมอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย เพื่อให้ข่าวมีความสมบูรณ์ และเข้าถึงคนดูได้ง่าย”
ส่วนช่างภาพมืออาชีพ และเจ้าของเว็บไซต์ 2how.com อย่าง ต่อวงศ์ มองสื่อในยุค 4.0 ว่าเป็นเพียงสโลแกนที่จะก้าวไปข้างหน้า มีความทันสมัย พร้อมทั้งกล่าวถึง ความยากง่ายในการทำงานในสื่อออนไลน์ ว่า สำหรับตนทำได้ไม่ยาก ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ต้องทำตามใจตลาดตัวเองเลือกทำในสิ่งที่อยากจะทำ
ข่าวออนไลน์ไม่มีบรรณาธิการ ไม่มีช่างภาพ แต่สามารถตั้งกล้องถ่ายเองได้ รายงานสดที่ไหนก็ได้ ใครจะฟังก็เข้ามาฟัง ทำแบบไม่สนใจสปอนเซอร์ สนใจแค่ ใครอยากฟังเรา ใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ สุดท้ายเนื้อหาคือสิ่งสำคัญ
ต่อวงศ์ ยังกล่าวอีกว่า “ถ้าจะเริ่มทำ ต้องดูก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร จะพูดอะไรให้ใครฟัง ส่วนเรื่องของมุมมองในการทำงานของผมนั้น ใช้แนวทาง วิ่งไปเรื่อยๆ หรือค่อยๆหยอดกระปุกไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่ายอดจะเป็นเช่นไร หรือเส้นชัยอยู่ตรงไหน รู้แต่เพียงว่าในขณะที่วิ่ง ยังมีคนมองเห็นว่าเราวิ่งอยู่ หลักของผมมีแค่นั้นจริงๆ”