นครพนม – สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงลดแห้งอย่างฉับพลันอย่างผิดธรรมชาติ นอกจากจะทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กเช่น กุ้ง หอย และลูกปลา ตายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาวอีกด้วย ผลมาจากประเทศจีนแผ่นใหญ่ เริ่มตั้งแต่มณฑลยูนนาน ได้สร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขงถึง 10 แห่ง ขณะที่ประเทศลาวก็สร้างไม่แพ้กัน มีถึง 10 แห่งเช่นเดียวกัน (ยังไม่นับรวมเขื่อนในประเทศกัมพูชาอีก 3 แห่ง)
แม่น้ำโขงมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,880 กม. เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด
ปี 2562 เกิดวิกฤติภัยแล้งสาหัสกว่าหลายปีผ่านมา จีนแผ่นดินใหญ่จึงกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนทั้ง 10 แห่ง จึงทำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำได้รับผลกระทบ ประกอบกับเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว หลังสร้างเสร็จจึงได้กักน้ำไว้เพื่อเตรียมทดสอบผลิตไฟฟ้า ยิ่งเพิ่มวิกฤติในลำน้ำโขงหนักขึ้นไปอีก
ล่าสุด วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม บริเวณลำน้ำสงครามไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่าปากน้ำไชยบุรี โดยเฉพาะแม่น้ำสงครามกำลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แรมซาร์ไซต์(Ramsar Site) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย เริ่มจากปากน้ำไชยบุรี ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ไปถึงบ้านปากยาม ต.สามผง อ.ศรีสงคราม รวมระยะทาง 92 กม. และเป็นลำน้ำสาขาเพียงแห่งเดียวที่ทุกๆปีปลาจากลุ่มน้ำโขงจะอพยพขึ้นไปวางไข่ เพราะตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำสงครามมีป่าบุ่งป่าทาม เสมือนกำแพงที่เป็นแหล่งอาศัยหลบภัย ขยายพันธุ์ และเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์น้ำที่เมื่อโตขึ้นก็จะว่ายออกมายังแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป เป็นระบบนิเวศน์ที่ดีที่สุดในลุ่มน้ำโขง
ข่าวน่าสนใจ:
- พะเยา ฮือฮา! สาวหล่อผอ.รร.ยกขันหมากเงินล้านจาก จ.ลำพูนขอครูสาวดอกคำใต้ คู่แรก จ.พะเยา
- ตรัง เกษตรกรเลี้ยง 3 สัตว์เศรษฐกิจ ปูดำ-ปูหน้าขาว-กุ้งกุลา รายได้ดีมีตลาดรองรับ ปลดหนี้ 6 ล้านได้ในเวลาปีกว่า
- ตำรวจสมุทรปราการ ขานรับนโยบาย ผบ.ตร.บูรณาการกำลังทุกภาคส่วน กวดขันจับกุมแก๊งวัยรุ่นต่างด้าว
- ลำปางแถลงจับยาบ้าล๊อตใหญ่ 6 ล้านเม็ด
ปรากฏว่าบริเวณปากน้ำดังกล่าว มีชาวประมงพื้นบ้านได้วางข่ายดักปลาขวางการอพยพของปลาที่จะว่ายขึ้นไปวางไข่ในลุ่มน้ำสงคราม จากการเปิดเผยของนายสมฤทธิ์ ศรีตระกูล อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 3/1 หมู่ 1 ต.ไชยบุรี นอกจากจะเป็นเกษตรกรทำนาแล้ว ก็ยังเป็นนักจับปลาในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย โดยกล่าวว่าที่เห็นชาวบ้านนำลอบมาวางไว้ที่ริมแม่น้ำสงคราม เพราะทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปลาจะเข้ามาในลอบจำนวนมาก แต่ปีนี้แล้งหนักลอบที่วางไว้นับสิบอันจึงเหมือนแม่สายบัวรอเก้อ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ากรณีวางข่ายดักปลาขวางลำน้ำ เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ในการวางไข่ของปลาหรือไม่ ซึ่งนายสมฤทธิ์ตอบว่ามีส่วนแต่ไม่ทั้งหมด เพราะปลายังหาช่องทางหลบขึ้นไปวางไข่ได้ ขณะเดียวกัน นายยรรยง ศรีเจริญ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด WWF-Thailand เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีอาจทำให้กว่าหลายล้านชีวิตต้องเผชิญกับปัญหามากมายไม่ใช่เฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย ซึ่งปลาจำเป็นต้องวางไข่ในป่าบุ่งป่าทาม เมื่อปริมาณน้ำไม่ถึงป่าบุ่งป่าทาม ปลาก็จะต้องว่ายน้ำแหล่งวางไข่ใหม่ แต่ก็ต้องไปไกลกว่าปกติ โชคดีตรงที่ป่าบุ่งป่าทามบริเวณบ้านท่าบ่อสงคราม บ้านศรีเวินชัย และบ้านปากยาม อ.ศรีสงคราม มีน้ำท่วมขังอยู่ ถ้าไม่โดนดักจับกลางทางปลาก็จะมีที่วางไข่
“ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน เป็นแหล่งโปรตีนของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากถึงร้อยละ 47-80 โดยมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท” นายยรรยง กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: