ผู้ว่าฯสั่งคุมเข้ม 10 วันอันตรายร้อนสุดในรอบปี ใช้ข้อมูลดาวเทียมควบคู่การลาดตระเวณเพื่อประโยชน์สูงสุดปัญหาหมอกควันและไฟป่า
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ชั้น 1 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยประชุมผ่านระบบ VDO Conference ให้แก่นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงาน และติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในช่วงเวลา 51 วัน (1 มีนาคม – 20 เมษายน 2561) อย่างใกล้ชิด
ด้าน นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้ (19 มี.ค.61) คุณภาพอากาศยังอยู่ในสภาวะปกติ ค่าฝุ่นละอองสูงสุดพบที่ตำบลช้างเผือกอยู่ที่ 118 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยเมื่อเทียบกับปี 2559 และ 2560 แล้ว จังหวัดเชียงใหม่มีสถิติที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงวันที่ 18 มีนาคม จังหวัดเชียงใหม่มีจุด Hotspot ทั้งหมด 86 จุด ขณะที่ปี 2560 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันมีจุด Hotspot จำนวน 310 จุด และปี 2559 มีจุด Hotspot จำนวน 233 จุด เมื่อเทียบกันแล้วปีนี้ยังไม่ถึงของ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นสถิติที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วง 10 วันอันตราย (16 – 26 มี.ค. 61) ที่เป็นช่วงที่จะพบจุดความร้อนสูงสุดในรอบปีติดต่อกันมาตลอด ซึ่งผ่านมา 2 วัน จังหวัดเชียงใหม่มีจุด Hotspot จำนวน 12 จุด ส่วนในช่วงเวลาเดียวของปี 2560 มีจุด Hotspot ถึง 84 จุด และปี 2559 มีจุด Hotspot จำนวน 65 จุด แต่ยังขอให้ทุกหน่วยงานอย่าประมาท ต้องตรึงกำลังและบริหารจัดการสรรพกำลังหน่วยของตนเองให้ดี
ทั้งนี้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนทุกคนที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลาห้ามเผา ก็ได้มีความพยายามระงับไฟไม่ให้ลุกลามอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำชับให้หน่วยงานทุกแห่งเน้นการลาดตระเวน ไม่ว่าจะเป็นแต่ละอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน เฝ้าระวังการเกิดไฟป่าในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อเป็นการกดดันให้ผู้ที่ตั้งใจจุดไฟ อาจจะเกรงกลัวแล้วไม่จุด ซึ่งจากรายงานพบว่าการเกิดไฟมักจะพบมากในช่วงกลางดึก ส่วนในช่วงกลางวันที่มีการออกลาดตระเวนบ่อยครั้ง ทำให้การเกิดไฟลดลงได้มาก จึงขอให้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยขอให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมควบคู่ไปกับการลาดตระเวน เพื่อให้เกิดผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากหน่วยใดมีความจำเป็นต้องการกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม สามารถร้องขอมาที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เพื่อขอสลับเปลี่ยนกำลังให้เข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำแต่ละอำเภอสอดส่องดูแลในพื้นที่ของตนเองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วง 10 วันอันตราย (16 – 26 มี.ค. 61) ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศแห้งจัด และมักจะเกิดการชิงเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยขอให้บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้ดี พร้อมกับให้ความสำคัญกับชุมชน ในการดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการลาดตระเวนและการทำแนวกันไฟ ตลอดจน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด หากฝ่าฝืนจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: