วันนี้ ( 26 ก.ค. 62 ) ที่โรงเรียนวัดประสิทธาราม ต.บางชนะ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้ก่อตั้งมานานเกือบ 100 ปี และกำลังจะถูกยุบเนื่องจากมีนักเรียนน้อยเพียง 47 คนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนด้อยโอกาสผู้ปกครองมีฐานะยากจน มีครูประจำการเพียงคนเดียวส่วนใหญ่เป็นจิตอาสาที่มาสอนและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนมาร่วม 3 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นห้องเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านคลองสุข ในวันนี้ทางจิตอาสาร่วมกับนักเรียนผู้ปกครองร่วมกันจัดกิจกรรมตามวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชนริมน้ำเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 โดยมีนายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน
โดยนักเรียนได้แต่งกลอนเชิดชูพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 10 และร่วมกับผู้ปกครองทำผ้ามัดย้อมเป็นถุงผ้าลดโลกร้อนและเสื้อจำหน่ายเพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียน ขณะเดียวกันได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ นำขยะรีไซเคิลเป็นกระถางปลูกต้นไม้ ปลูกผักเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน ซึ่งที่โรงเรียนแห่งนี้เนื่องจากมีครูประจำการเพียงคนเดียว การจัดการเรียนการสอนอาจจะแตกต่างจากที่อื่นที่จิตอาสาสอนให้นักเรียนรู้จักการดำรงชีพในสังคมให้ได้นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
ข่าวน่าสนใจ:
นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าขอชื่นชมจิตอาสา ผู้ปกครอง ชาวบ้านและวัดที่ร่วมไม้ร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนและนำวิถีชีวิตมาผนวกกับการเรียน และนักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ด้อยโอกาสก็ตาม
ด้านพระอธิการภูวนาท จารุธัมโม เจ้าอาวาสวัดบางขยาราม กล่าวว่าโรงเรียนวัดประสิทธาราม ต.บางชนะ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ได้ก่อตั้งมานานเกือบ 100 ปี มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ก่อนหน้านี้มีนักเรียน 27คน ไม่มีครูสอน ต่อมาเมื่อปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยุบโรงเรียน และให้เด็กนักเรียนเดินทางไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่น โดยอ้างว่าโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนน้อย ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทางพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านรวมทั้งกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์สุราษฎร์ธานี ได้มีมติรวมกันให้โรงเรียนวัดประสิทธารามยังคงมีอยู่โดยจัดครูอาสามาดำเนินการสอนให้เด็กๆ พร้อมทั้งเดินหน้ายื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งยุบโรงเรียนต่อกระทรวงศึกษาพร้อมขอให้มีคำสั่งเปิดโรงเรียนแห่งนี้ต่อเพราะเป็นโรงเรียนเก่าแก่และผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
ต่อมาทางกระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนต่อและบรรจุครูประจำเพียงแค่คนเดียวแต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ทางชุมชนจึงได้ประสานขอครูอาสามาจากที่ต่างๆที่มีประสบการณ์ด้านความเป็นครู ที่ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี / ข้าราชการครูบำนาญในพื้นที่ ตลอดจนครูอาสาภาคประชาสังคมจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับครูประจำการ และสอนมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว นักเรียนของที่นี่อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้คล่องขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้อ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้และปีนี้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 42 คนแล้วสามารถที่จะเปิดเป็นโรงเรียนโดยสมบูรณ์ได้แล้ว และทุกคนกำลังรอ เพราะตอนนี้ทางโรงเรียนมีความพร้อมทุกอย่างทั้งอาคารสถานที่/อุปกรณ์การเรียนการสอนเพียงแต่ขาดครูและการยกฐานะเป็นโรงเรียนเหมือนในอดีต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: