ทีมสัตวแพทย์ และ นักวิจัย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร ตรวจสุขภาพเต่ากระ 4 ตัวซึ่งมีอายุ 8 ปี พร้อมฝังไมโครชิพ ก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ยืนยันว่ามีสุขภาพสมบูรณ์ ขณะที่ลูกเต่ากระที่ฟักแล้ว 204 ตัว ก็มีสุขภาพที่ดี ส่วนมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ระบุว่า 2 เดือนครึ่งมีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่แล้วถึง 1,938 ฟอง จาก 4 แม่ที่เก็บข้อมูลไว้ หลังจากนี้เป็นต้นไปจะมีลูกเต่ากระทยอยฟักเมื่อถึงกำหนด (เรื่อง/ภาพ วิมล ทับคง)
วันที่ 9 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช.) นางสาวพิมพ์ชนก ประจำค่าย นายสัตวแพทย์ พร้อมด้วยนายรัตชัย ทรัพย์ครองชัย และนายฐิติวัฒน์ ประทุมเทือง ผู้ช่วยนักวิจัย ได้เดินทางไปยังเกาะทะลุ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปตรวจสุขภาพเต่ากระ 4 ตัว ซึ่งทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ได้นำออกจากบ่อที่เลี้ยงไว้ในโรงเรือนอนุบาลเต่ากระ ย้ายมาเลี้ยงไว้ในกระชังแทน หลังจากที่นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขานุการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเต่ากระเจริญเติบโตมีอายุถึง 8 ปีแล้ว โดยมีตัวผู้ 3 ตัวและตัวเมีย 1 ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักเกือบ 40 กิโลกรัม
ข่าวน่าสนใจ:
โดยทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม และพนักงานของเกาะทะลุโฮแลนด์ รีสอร์ท ได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายเต่ากระทั้ง 4 ตัวออกจากกะชัง ขึ้นมาบริเวณชายหาดให้นายสัตวแพทย์ และผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพของเต่ากระทั้งหมด โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างเลือดเต่ากระทั้ง 4 ตัวแยกใส่หลอด พร้อมทั้งทำการฉีดวิตามินให้เต่ากระ และทำการวัดขนาดตัวของเต่ากระ และฝังไมโครชิฟทุกตัว พร้อมจดบันทึกข้อมูลไว้ทั้งหมด ก่อนที่จะนำกลับลงไปใส่ในกระชังเพื่อรอการปล่อยคืนสู่ท้องทะเลต่อไป
ในขณะเดียวกัน นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขานุการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ได้พานายสัตวแพทย์ และผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร ไปดูสภาพพื้นที่ของชายหาดเกาะทะลุ ซึ่งเป็นแหล่งที่ขึ้นมาวางไข่ของเต่ากระ รวมทั้งยังดูหลุมเพาะฟักซึ่งในปัจจุบัน ทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ได้จัดทำข้อมูลเอาไว้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือนครึ่งพบว่ามีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่แล้ว จำนวน 4 แม่ รวมไข่ได้กว่า 1,938 ฟอง ซึ่งอยู่ในหลุมเพาะฟัก 10 หลุม และ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีลูกเต่าฟักออกจากรังมาแล้ว 2 รัง รวม 204 ตัว และได้เคลื่อนย้ายไปใส่ภาชนะและนำไปใส่ในบ่ออนุบาลภายในโรงเรือน
อย่างไรก็ตามจะมีลูกเต่ากระทยอยฟัก อย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้เป็นต้นไป โดยลูกเต่าที่จะฟักออกจากไข่จะใช้เวลาประมาณ 60-65 วัน นอกจากนั้นคาดว่าในปีนี้จนถึงช่วงเดือนตุลาคม จะมีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่เพิ่มเติมอีก
นางสาวพิมพ์ชนก ประจำค่าย นายสัตวแพทย์ และผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร กล่าวว่าหลังจากตรวจสุขภาพเต่ากระทั้ง 4 ตัวซึ่งพบว่ามีสุขภาพที่สมบูรณ์มากและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์แล้ว ซึ่งเห็นดีด้วยกับทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ที่จะปล่อยคืนสู่ท้องทะเล เพียงแต่ตอนนี้ระหว่างการรอการปล่อยควรลดการให้อาหารลง และรอผลเลือดที่จะนำไปตรวจดูเม็ดเลือดขาวและแดง ดูผลค่าตับไต และค่าโปรตีนในเลือด ซึ่งใช้เวลา 1-3 วัน หากไม่พบปัญหาอะไรก็สามารถปล่อยได้ทันที
ส่วนสุขภาพของลูกเต่าที่เพิ่งฟักออกทั้ง 2 รัง โดยรังแรกสามารถให้อาหารเป็นสัตว์น้ำได้แล้วอาจจะเป็นปลาก็ได้ ส่วนอีกรังที่เพิ่งออกมาให้ทางเจ้าหน้าที่ดูแลคอยสังเกตดูจากถุงไข่แดง ซึ่งแรกเกิดไม่ต้องให้อาหารเพราะมีสารอาหารอยู่ และเริ่มให้อาหารเมื่อครบ 4-5 วันไปแล้ว
นางสาวพิมพ์ชนก ประจำค่าย นายสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร กล่าวว่าอย่างไรก็ตามจากสภาพพื้นที่โดยรอบของเกาะทะลุ น่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งมีแหล่งอาหารสมบูรณ์ ทั้งปะการังอ่อน และสัตว์น้ำหลายชนิด ที่เป็นอาหารของเต่ากระ รวมไปถึงสภาพชายหาด และพื้นที่เงียบสงบ มีแสงไฟน้อยจึงทำให้เต่ากระ ขึ้นมาวางไข่เป็นประจำในทุกปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนกลาง จ.ชุมพร จะได้ร่วมมือกับทางมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และ อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ติดตามและเก็บข้อมูลของแม่เต่ากระที่ขึ้นวางไข่ รวมทั้งการตรวจสุภาพของลูกเต่ากระเป็นระยะๆต่อไป โดยสิ่งสำคัญถือเป็นเรื่องที่ดีของที่นี่ซึ่งมีการดูแลเต่ากระ อย่างดีและมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในทุกๆปี ซึ่งก็จะทำให้มีปริมาณเต่ากระในท้องทะเลเพิ่มมากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: