X

ทช.ชี้ สัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์สูง ด้านผลผ่าซากพะยูนพบถูกเงี่ยงปลากระเบน (ชมคลิป)

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ชี้สัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์สูง ด้านผลผ่าซากพะยูนตายที่อ่าวไร่เลย์ พบถูกเงี่ยงปลากระเบนแทงจนติดเชื้อ ผ่าท้องพบเศษขยะบางส่วน

กรณีพบซากพะยูนเพศผู้ ขนาดโตเต็มวัยเสียชีวิตลอยตายอยู่หน้าหาดอ่าวต้นไทร ไร่เลย์ตะวันตก หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ตรวจสอบพบเป็นพะยูน อายุประมาณ 25 ปี ยาว 2.6 เมตร น้ำหนัก 240 กก. จนท.นำซากส่งไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต)

ในส่วนผลการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนตัวดังกล่าว ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ติดเชื้อจากบาดแผลบริเวณช่องท้อง เนื่องจาก จนท.พบเศษเงี่ยงปลากระเบน ยาวประมาณ 15 ซม. เสียบติดอยู่ในช่องท้อง จนเกิดการอักเสบ และอาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ขณะที่ผลการตรวจระบบทางเดินอาหาร จนท.พบเศษขยะพลาสติกเพียงเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เผยผลการสำรวจการเกยตื้นของพะยูนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการตายของพะยูนในทะเลไทย ระบุผลการสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน พบพะยูนเกยตื้นในทะเลไทยแล้ว 441 ตัว โดยจังหวัดที่พบการตายมากสุดคือพื้นที่ จ.ตรัง รองลงมาคือ จ.กระบี่ พังงา ระยอง และภูเก็ต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขที่ จนท.รับแจ้ง แต่ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ได้แจ้งให้ จนท.ทราบ ขณะที่สถิติการเกยตื้นเฉพาะปี พ.ศ.2562 พบมีการเกยตื้นตายแล้วรวม 16 ตัว โดยพบในทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมด พบมากสุดที่ จ.ตรัง 8 ตัว กระบี่ 5 ตัว พังงา 2 ตัว และสตูล 1 ตัว ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

 

นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5% ทั้งนี้ ขยะพลาสติกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ตายลง โดยค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลและโลมาเกยตื้น ร้อยละ 2 – 3 เกิดจากการกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ส่วนเต่าทะเลที่เกยตื้นจากผลกระทบของขยะทะเล เช่น การเกี่ยวพันของอวน มีสัดส่วนการเกยตื้นสูงถึงร้อยละ 20 – 40 นอกจากนี้สถิติจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 6 ประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด

โดยสถานการณ์ขยะทะเล พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน กําจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านต้น นําไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านต้น และกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเล 5 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โฟม หลอด และเศษเชือก

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน