การแข่งขันเรือยาว ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมของจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีสนามมาตรฐานในการแข่งขันกว่า 50 สนาม นอกจากความสนุกสนานของการแข่งขันเรือยาวแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คู่กับงาน อาหารอร่อยประจำถิ่นของแต่ละแห่ง เช่นที่วัดหาดมูลกระบือ ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ขนมขึ้นชื่อ คือ “ข้าวเม่าพอก” ขนมไทยแสนอร่อย ที่ทุกคนมาเยือนต้องแวะชิมรส
ชาวบ้านจาก 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลไผ่ขวางและตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ต่างร่วมแรงร่วมใจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ในการทำ”ข้าวเม่าพอก”ขนมไทยรสชาติอร่อยขึ้นชื่อของวัดหาดมูลกระบือ เพื่อนำออกจำหน่ายให้กับประชาชนที่มาเที่ยวชมงานประเพณีแข่งขันเรือยาวในสนามต่างๆของจังหวัดพิจิตร ราคาจำหน่าย แพละ 25 บาท เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนที่เดินทางมาเที่ยวชมแข่งเรือเพื่อบริโภคและยังเป็นของฝาก แต่ละปีจะสร้างรายได้ให้กับวัดเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร -เหิม! ขบวนการค้าของเถื่อนลักลอบส่งบุหรี่ไฟฟ้าข้ามแม่น้ำโขงใกล้กับสะพานมิตรภาพ 2
- สูงวัยตรัง ปลื้ม เตรียมตัวรับเงินหมื่น ฝันใช้ยามแก่-ต่อยอดอาชีพบั้นปลาย
- จังหวัดสกลนคร พัฒนาศักยภาพบุคลากร ภาคีเครือข่าย เฝ้าระวัง ดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
ประวัติความเป็นมาของข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ เริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช 2503 ประชาชนในพื้นที่จะนำข่าวเม่าพอกมาถวายวัดซึ่งจะมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูการแข่งขันเรือยาวประเพณี ต่อมา “คุณยายเพรา นครพุ่ม”แม่ค้าขายขนมข้าวเม่าพอกที่หน้าวัดหาดมูลกระบือ ได้ริเริ่มการทอดเพื่อจำหน่าย นำรายได้มอบให้กับวัด เนื่องจากเห็นว่าประชาชนที่มางานต้องการที่จะลิ้มรสข้าวเม่าพอกของวัดหาดมูลกระบือ “พระครูพิเชษฐธรรมคุณ” อดีตเจ้าอาวาส จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้าน 30-100 คน ทำข้าวเม่าพอกจำหน่าย เพื่อนำเงินที่ได้มาร่วมจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวซึ่งจะต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก งานประเพณีแข่งขันเรือยาววัดหาดมูลกระบือจะจัดช่วงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี และใช้ในการบูรณศาสนสถานของวัด ตั้งแต่นั้นมา จึงเกิดเป็นประเพณีก่อนวันงานใหญ่ ชาวบ้านจะมาช่วยกันทำข้าวเม่าพอกที่วัดและจำหน่ายในงานแข่งขันเรือยาวของวัดหาดมูลกระบือเองและวัดต่างๆกว่า 10 วัด ที่มีการจัดการแข่งขันเรือยาว ทั้งในเขตจังหวัดพิจิตรและจังหวัดพิษณุโลก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับวัด โดยปีที่ผ่านมามีรายได้เข้าวัดกว่า 1,00,000 บาท (หนึ่งล้านบาท)
นางปาน เปียพัฒน์ อายุ 84 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลไผ่ขวาง ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่บุกเบิกการทำข้าวเม่าพอก กล่าวว่า ตนเองร่วมกับเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำขนมข้าวเม่าพอกเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี การมาช่วยกันทำขนมข้าวเม่าพอกเป็นการรวมใจกันของชาวบ้านเพื่อทำบุญหารายได้เข้าวัด ในแต่ละปีจะจำหน่ายทั้งที่วัดหาดมูลกระบือเองและวัดต่างๆที่มีการจัดการแข่งขันเรือยาวประมาณ 10 วัด ก็จะมีรายได้เข้าวัดกว่า 1 ล้านบาท สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ก็จะมีทั้งการบริจาคจากชาวบ้านและวัตถุดิบที่วัดต้องจัดซื้อ เหตุผลที่ข้าวเม่าพอกของวัดหาดมูลกระบืออร่อย น่าจะมาจากความสด ถึงเครื่อง แต่ละปีเราต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เช่น มะพร้าวต้องใช้ประมาณ 16,000 ลูก กล้วยไข่ ประมาณ 20,000 หวี
สำหรับการทำขนมข้าวเม่าพอกเพื่อจำหน่ายในงานแข่งขันเรือยาวเป็นสิ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตเจ้าอาวาสรูปเดิม “พระครูพิเชษฐธรรมคุณ” ซึ่งมรณภาพไปเมื่อสามปีที่ผ่านมาปัจจุบันคณะศิษย์ได้เก็บสังขารไว้ในโลงแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่สังขารไม่เน่าไม่เปื่อย ผิวพรรณยังคงมีลักษณะเหมือนกับมนุษย์ปกติทั่วไปไม่แห้งหรือยุบ เส้นผม ขนตา เล็บ ยังคงอยู่ครบ เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและนี่คือ “ข้าวเม่าพอก” ขนมไทยที่นอกจากจะสร้างความอิ่มอร่อยให้กับผู้ที่ลิ้มรสแล้ว ยังสร้างบุญให้กับผู้บริโภค เนื่องจากรายได้นำไปใช้ในการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานและการบูรณะศาสนสถานของวัด จึงนับได้ว่าเป็นขนมที่แฝงไว้ด้วยประโยชน์ ทั้งความสามัคคีจากความร่วมมือของชาวบ้าน การสืบสานประเพณีแข่งขันเรือยาว การร่วมทำนุบำรุงพระศาสนา การรักษาวัฒนธรรมการทำขนมไทย และความอิ่มอร่อยของผู้รับประทาน และผู้ที่ได้รับเป็นของฝาก “อิ่มทั้งท้อง อิ่มทั้งบุญ”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: