ชาวประมง บ้านโคกยูง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เดือดร้อนหนักสะพานท่าเทียบเรือประมงทรุดพัง มานานกว่า 3 เดือน ไม่สามารถใช้การได้ หวั่นเกิดอุบัติเหตุซ้ำ วอนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลหรือสร้างสะพานใหม่ เผยเป็นท่าเทียบเรือสำคัญของหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้ทำประมงและการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 ผู้ช่วยได้รับการร้องเรียนจากชาวประมงพื้นบ้าน บ้านโคกยูง ม.3 ต.คลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังท่าเทียบเรือประมงพังเสียหาย มานานกว่า 3 เดือน ไม่สามารถใช้การได้ หวั่นเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากมีรอยร้าวหวั่นนทรุดเพิ่ม แต่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ชาวประมงกว่า50ครัวเรือนเดือดร้อนขึ้นลงเรือลำบาก จึงต้องสร้างสะพานไม้ชั่วคราว จากการตรวจสอบพบว่า สะพานท่าเทียบเรือดังกล่าว เป็นสะพานคอนกรีต กว้าง4เมตร ยาว8เมตร พื้นสะพานและหลังคาทรุดพังลงไปในทะเลครึ่งหลัง เหลือเพียงซากโครงหลังคาและเสาคอนกรีที่ปรักหักพัง นอกจากนี้ยังมีรอยร้าวที่คอสะพาน และเสาคอนกรีตหลายจุดมีรอยร้าวพร้อมที่จะทรุดพังลงมาตลอดเวลา
นายประสาน บุตรสมัน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติบ้านโคกยูง กล่าว่า สะพานท่าเทียบเรือดังกล่าวชื่อว่า สะพานโต๊ะก้าหรีม สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ด้วยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จำนวนประมาณ 1.5 ล้านบาท และหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี47 สะพานก็เริ่มเกิดรอยร้าว จึงได้แจ้งให้ทางกองช่างอบจ.มาตรวจสอบ เพื่อหาทางป้องกัน แต่สุดท้ายก็เงียบหาย จนกระทั่งเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา สะพานได้เกิดทรุดลงไปในทะเล โชคดีขณะเกิดเหตุไม่มีใครอยู่จึงไม่มีใครได้รับอันตราย แต่อวนและเครื่องมือประมงอื่นๆ ของชาวบ้านจมลงไปในทะเลด้วย
นายประสานกล่าวอีกว่าที่ผ่านมา ได้แจ้งไปยังสมาชิกอบจ.ในพื้นที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จนวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากขึ้น จึงช่วยกันระดมทุนระดมแรงมาสร้างสะพานไม้ใช้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถรองรับเรือจำนวนมากได้ สะพานโต๊ะก้าหรีมเป็นสะพานที่สำคัญของหมู่บ้าน เพราะนอกจากเรือในพื้นที่แล้วยังมีเรืออยู่กว่า 50 ลำ แล้วเรือจากตำบลใกล้เคียง รวมทั้งเรือนำเที่ยวอีกหลายลำที่ใช้สะพานดังกล่าว จึงขอฝากผ่านสื่อไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลพูดคุยกับชาวบ้าน ถ้าเป็นไปได้ บ้านอยากที่จะได้สะพานใหม่ เพราะสะพานเก่าโครงสร้างทรุดพัง สภาพเสาคอนกรีตไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ เกรงจะทรุดพังลงมาอีก นอกจากนี้ในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงจะเอ่อท่วมสะพานกว่า1เมตรไม่สามารถขึ้นลงเรือได้ เนื่องจากพื้นสะพานทรุดต่ำลง
ด้านนายมน ปริยาวาจา อายุ39ปี อาชีพมัคคุเทศก์ กล่าวว่า นอกจากเรือประมงพื้นบ้านจะใช้สะพานแห่งนี้ แล้ว เรือนำเที่ยวก็ใช้สะพานแห่งนี้เช่นกัน เนื่องจากสามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆได้อีก เช่น เกาะลันตา เกาะพีพี เกาะไหง เกาะรอก เป็นต้น และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาพักโฮมสเตย์นิยมล่องเรือเที่ยวชมความสวยงามธรรมชาติป่าโกงกางที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง สร้างสะพานใหม่ให้ชาวบ้าน เพื่อชาวบ้านจะได้ทำประมงและการท่องเที่ยวต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: