นับตั้งแต่พลังงานทดแทนก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ด้วยภาพลักษณ์เทคโนโลยีสะอาด และถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่มีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึง คือ เสถียรภาพของระบบ เนื่องจากแหล่งพลังงานทดแทนส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย จึงนำ “ระบบกักเก็บพลังงาน” มาใช้ ในโครงการปรับปรุงและแก้ปัญหาระบบส่งไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อสร้างความเสถียรให้แก่ระบบ โดยกำลังดำเนินการติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีขนาดติดตั้ง 16 และ 21 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ตามลำดับ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จุดเด่นของระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ ได้แก่ 1.ทำให้พลังงานทดแทนมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น สามารถพร้อมจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหยุดชะงักชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นลมไม่พัด หรือเมฆบดบังดวงอาทิตย์ 2.เป็นแหล่งพลังงานสำรอง กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากระบบ และใช้งานในเวลากลางคืน ชดเชยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 3.ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียร รองรับความผันผวนของระบบไฟฟ้า โดยใช้งานพลังงานจากแบตเตอรี่รักษาแรงดันและความถี่ไฟฟ้าของระบบให้มีความเสถียร และ 4.จัดการความแออัดของโครงข่ายไฟฟ้า โดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่เสริมเข้าสู่ระบบ แทนการส่งไฟฟ้าจากระยะทางไกล ในกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการไฟฟ้าสูงบางช่วงเวลา
ระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว จะใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน เพราะมีความเหมาะสมเรื่องพื้นที่ที่ใช้ติดตั้ง สามารถจัดเก็บและปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับอายุการใช้งาน นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งใช้งานที่อื่นได้อีกด้วย
สำหรับโครงการปรับปรุงและแก้ปัญหาระบบส่งไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการออกแบบและก่อสร้าง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 โดยเมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นการเตรียมความของ กฟผ. ในการรองรับการเจริญเติบโตของพลังงานหมุนเวียน ควบคู่ไปกับภารกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: