X
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

“ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร” เปิดเคล็ดลับสุขภาพดี อยู่ 100 ปี อย่างมีความสุข

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2531 เปิดเผยเคล็ดลับที่ตนเองมีอายุ 99 ปีในปัจจุบัน และมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้

เคล็ดลับที่ทำให้อายุยืน
“ที่มีอายุยืนจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าเมื่อได้อ่านหนังสือของคุณหลวงวิจิตรวาทการ ถึง 3 เล่ม ได้แก่ ทำให้ผมได้ฝึกถึงเรื่องความทรงจำ, สมาธิ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินขึ้นเขา 120 ขึ้น ผมไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เพราะว่าใจก็มุ่งเหมือนๆ กันว่า ของฝั่งเขาก้าวคนละ 1 เมตร แต่ของตนนั้นต้อง 3 ก้าว 2 เมตร ก็ทำให้จิตใจมันเกิดความสงบนิ่ง ก็ไม่รู้สึกเหนื่อยหรืออะไร

อย่างเวลาเข้านอน แต่ก่อนก็เป็นห่วงว่า นอนไม่หลับ ถ้าพรุ่งนี้ไม่หลับอีก มะรืนไม่หลับอีก ก็จะเป็นโรคประสาทตาย แต่ว่ามีฝรั่งคนหนึ่ง 15 ปี ไม่นอนเลย แต่ว่าไม่เป็นอะไร ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสบายใจ และเมื่อหัวถึงหมอนก็หลับเลย”

วิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพของอาจารย์คืออะไร
“สำหรับเรื่องอาหารนั้นก็ ทานอะไรก็ได้ที่ไม่เหม็นมาก และก็ของดิบๆ สุกๆ ไม่รับประทาน และก็ไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา”

สิ่งที่ได้จากการปฏิบัติตามเคล็ดลับสุขภาพดีของอาจารย์คืออะไร
“ผลจากการปฏิบัติตามหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ ทำให้ผมมีความสบายใจ ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นอันว่าเราก็ได้ปฏิบัติดี ถ้าคิดอย่างนี้แล้วว่า จะนอนหรือจะตื่นขึ้นมาก็นึกถึงแต่ว่า จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติให้มากที่สุดได้อย่างไร และทำแล้วก็มีความภาคภูมิใจ”

“เมื่อตื่นขึ้นตอนเช้าหรือก่อนจะเข้านอน ให้ระลึกว่าวันนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและประเทศชาติมากที่สุด อนาคตย่อมจะดีอยู่เองและพอวันพรุ่งนี้แล้ว วันนี้จะกลายเป็นอดีต อดีตที่เราทำตัวของเราให้ดีที่สุด

เราก็จะภาคภูมิใจ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ว่าเราได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างดีที่สุด”

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2531 เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต, ใกล้รุ่ง, ในดวงใจนิรันดร์, แว่ว, เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงวิชาการว่า เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา ที่มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ ประวัติศาสตร์ไทย ปฏิทินไทย ภาษาไทย จารึก ศิลปวรรณคดี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตของไทยศึกษา ไปสู่ไทศึกษาหรือการศึกษาเรื่องของชนเผ่าไทอื่นๆ นอกประเทศไทย

ผลงานทางวิชาการของท่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน แนวการปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ความสำคัญของวรรณคดีท้องถิ่น หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ล้านนาจารึก ความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องเกี่ยวกับ ศิลาจารึกสุโขทัย และศักราชในจารึกสมัยสุโขทัย เป็นต้น

ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และใช้อ้างอิงในวงวิชาการเสมอมา นักวิชาการหลายสาขาอ้างอิงแนวคิดหรือข้อเสนอของท่าน เพียงใช้อักษรย่อว่า ป.ณ.

เนื้อหาจาก : โครงการส่งเสริมป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

77 ข่าวเด็ด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน