มหกรรมอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเอทานอล (Sugarex Thailand 2019) จัดขึ้นครั้งแรกในภูมิภาคที่ขอนแก่น ตอกย้ำอิสานเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ
นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และ Mr. Nong Guang ประธานสมาคมกว่างซีจ้วง ชูการ์ อินดัสทรี่ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และ การประชุมนานาชาติ “Sugarex Thailand 2019 and Agri Thailand 2019” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) จังหวัดขอนแก่น
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ของโลกสำหรับการผลิตน้ำตาล โดยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีโรงงานน้ำตาลทรายมากที่สุดในไทย จำนวน 21 โรงงาน งานนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงนวัตกรรมล่าสุดในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และการเกษตร ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกในภูมิภาค โดยจะเป็นการรวมตัวของนักวิชาการ ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ต้องการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศแถบทวีปเอเชีย อันจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตและมีประสิทธิภาพในวงการธุรกิจน้ำตาลและอ้อยเทียบเท่าระดับสากล
งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสมาคมต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และ สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย
กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่จัดแสดงมากกว่า 3,000 ตารางเมตร งานสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความรู้สู่ความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ในหัวข้อ “ทางรอดของชาวไร่อ้อยจากวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลไทยที่ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ สร้างความเข้าใจชาวไร่อ้อยใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
การแสดงนวัตกรรมใหม่จากบริษัทชั้นนำ เครื่องจักรกลในไร่อ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตร และการประชุมนานาชาติ Thailand Sugar Conference 2019 อัพเดตแนวโน้มตลาดน้ำตาลโลก ที่รวบรวมผู้มีชื่อเสียงในวงการน้ำตาลและเอทานอลในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเข้าเยี่ยมชมโรงผลิตน้ำตาล ณ โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี
นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งานนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก โดยข้อมูลล่าสุดปีการผลิต 2561/62 จากผลผลิต 100 ล้านตันอ้อย ในจำนวนนี้ 60 ล้านตันอ้อยอยู่ในภาคอีสาน ก็ถือว่า ผลผลิตเกินครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้ของประเทศมาจากพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกอ้อยน้ำฝน ในปีที่ผ่านมามีปัญหาฝนแล้ง คาดว่า ผลผลิตน่าจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ก็โชคดีที่มีพายุโพดุลเข้ามาในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ก็คาดว่า จะทำให้สถานการณ์ของอ้อยดีขึ้น
“ส่วนเรื่องที่หลายคนกังวลว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ที่กฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสของน้ำตาลจะมีผลบังคับใช้จะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ก็ขอเรียนว่า อาจจะส่งผลกระทบในด้านของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมน้ำตาลคงได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากข้อมูลปีที่ผ่านมา การบริโภคน้ำตาลในประเทศจะมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ที่เหลือจะเป็นการส่งออก โดย 4.6 ล้านตันใช้บริโภคในประเทศ ส่วนอีก 12 ล้านตัน เป็นการส่งออก” นายสมพล กล่าว
ด้านนายเทพวรรณ์ เตียมไธสง เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (ส.อ.ท.ขอนแก่น)กล่าวถึงงานของ ส.อ.ท.ขอนแก่น จากปัญหาเรื่องการเผาอ้อยจนส่งกระทบให้เกิดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ตามที่เป็นข่าว ทาง ส.อ.ท.ขอนแก่น ได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้ข้อสรุปว่า ทางโรงงานเองจะไปช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยในแปลงเพาะปลูก ส่วนทาง ส.อ.ท.ขอนแก่นได้เสนอที่จะสร้างโมเดลรถตัดอ้อยเพื่อลดพื้นที่การเผาอ้อย จากเดิมที่จะมีการเผาอ้อยถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูก
ทาง ส.อ.ท.ขอนแก่น มีแนวคิดที่จะสร้างรถตัดอ้อยที่มีไซส์ขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรที่มีแปลงปลูกอ้อยขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเผาเป็นหลักเพื่อลดต้นทุน เพราะไม่คุ้มที่จะใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้ามาตัดอ้อย ทาง ส.อ.ท.ขอนแก่น ได้ร่วมมือกับมหาวิยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน วิทยาเขตขอนแก่น สร้างโมเดลรถตัดอ้อยต้นแบบ ในส่วนการจัดการก็จะไม่ให้เกษตรกรซื้อเพราะจะเป็นการเพิ่มภาระ แต่จะเป็นลักษณะให้เกษตรกรเช่า
ขณะนี้ได้ต่อรถต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวม 20 คัน และจะเริ่มใช้ในฤดูเปิดหีบอ้อยในปีนี้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรลงได้ประมาณ 10-20% แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการที่จะลดพื้นที่การเผาอ้อย ซึ่งเราจะมีตัวชี้วัดก็คือ ปริมาณอ้อยเผาที่ถูกส่งเข้าโรงงานจะต้องลดลง และเปอร์เซ็นต์อ้อยตัดที่ถูกส่งเข้าโรงงานจะต้องเพิ่มขึ้น เพราะหลักสำคัญคือการเพิ่มจำนวนรถตัดอ้อยให้มากขึ้นให้เพียงพอสำหรับเกษตรกรแปลงเล็ก เพื่อให้ต้นทุนของเกษตรกรไม่สูงและจูงใจให้เขาหันมาใช้รถตัดอ้อยมากกว่าการเผา ซึ่งก็จะให้เป็นรถต้นแบบที่ผลิตโดยคนขอนแก่น และเริ่มนำร่องใช้ในพื้นที่ปลูกอ้อยในขอนแก่นเป็นแห่งแรก” นายเทพวรรณ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: