เพชรบูรณ์-รุมสับ!รายงานรับฟังความคิดเห็นโครงการปิโตรเลียมฐานหลุมผลิต WB-5,WB-7 อ.วิเชียรบุรี ท้วงตรวจวัดสภาพอากาศฯ- ผลกระทบศูนย์เด็กเล็กฯลฯ รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ห่วงจัดเวทีให้ข้อมูลฝ่ายเดียว-การปชส.ไม่ทั่วถึงแนะกรมเชื้อเพลิง-บริษัทฯไปแก้ไข
วันที่ 13 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการปิโตรเลียมฐานหลุมผลิต WB- 5 พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมวิเชียรบุรี และฐานหลุมผลิต WB-7 พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมวิเชียรบุรี 2 แปลงสำรวจบนบท SW1 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต.ท่าโรงและต.บ่อรังเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของบริษัทอีโค่โอเรียนเอ็นเนอยี่(ไทยแลนด์)ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2527/24 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตคิ โดยมีผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนภาพเอกชนในจังหวัด รวมทั้งตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้าร่วมฯ
ทั้งนี้ผู้แทนบริษัทวิชั่นอีคอนซัลแทนท์จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้นำเสนอผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ รวมถึงผลการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มาพิจารณากำหนดร่างมาตรการป้องกันแก้ไขและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ รับฟัง จากนั้นขอรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อจะนำไปปรับปรุงแก้ไขรายงานให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งปรากฏว่าในที่ประชุมได้มีการตั้งคำถามและข้อสงสัยโดยตั้งสังเกตถึงรายงานการศึกษาฉบับนี้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยผู้แทนสาธารณสุข(สธ.)จังหวัดฯตั้งข้อสังเกตทำไมทางบริษัทที่ปรึกษาฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอากาศในบรรยากาศซึ่งไม่ใช้ตัวชี้วัด PM-2.5 และแสดงความกังวลถึงศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในพื้นที่รัศมีบริเวณหลุมที่จะขุดเจาะน้ำมัน โดยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่า ได้มีการตกลงร่วมกันกับคณะกรรมการนโนบายและแผนสิ่งแวดล้อมและคณะทำงานผู้ชำนาญการแล้ว โดยสรุปกิจการเกี่ยวกับการทำปิโตรเลียมทำให้เกิดผลกระทบน้อยมากและผลกระทบสูงสุดคือ PM-10 และในการประเมินผลกระทบนั้นพื้นที่อ่อนไหวทั้งหมดจะถูกใส่ข้อมูลลงในแบบจำลอง ซึ่งผลการประเมินศูนย์เด็กเล็กทั้งสองแห่งที่อยู่ในบริเวณนี้ไม่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ ทั้งนี้อาจได้รับแต่ปริมาณน้อยมากและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
อย่างไรก็ตามทางผู้แทน สธ.จังหวัดฯกล่าวย้ำว่า หากอ้างถึงผลการหารือจากที่ประชุมฯก็อยากขอเอกสารชิ้นนี้ด้วย เพราะ PM-2.5 หากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอย่างแน่นอนและเพชรบูรณ์ก็ได้รับผลกระทบจาก PM-2.5 นอกจากนี้ผู้แทน สธ.จังหวัดยังถามย้ำถึงศูนย์เด็กเล็กหลังดูเอกสารข้อมูลซึ่งพบอยู่ใกล้หลุมขุดเจาะแค่ 700 เมตร จนน่าห่วงเรื่องคุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ขณะเดียวกันไม่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงทิศทางลม จากนั้นสอบถามบริษัทฯอีโค่เพิ่มเติมว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูล PM-2.5 หรือไม่ เพราะหากเปิดหรือดำเนินการปิโตรเลียมต่อไปและมีผลกระทบกลับมาทางบริษัทฯก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษากล่าวยืนยันถึงประเมินผลกระทบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามทางตัวแทนบริษัทอีโค่ฯชี้แจงว่า ขอรับไปปรึกษาทางกรมเชื้อเพลิงและทางทีมงานตรวจวัดสภาพอากาศ หากเก็บได้ก็จะจัดเก็บไว้เป็นข้อมูลและพร้อมจะนำมาชี้แจงในที่ประชุม แต่ทั้งนี้อาจจะไม่ลงในรายงานเพราะมีการตกลงกันแล้วว่ามาตรฐาน PM-10 ก็พอ
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาคันดินสูงแค่ 0.6 เมตรล้อมรอบพื้นที่กันชนแท่นเจาะจะป้องกันน้ำท่วมได้หรือไม่ และหลังการปิดหลุมเจาะแล้วพื้นที่บริเวณนี้จะมีปัญหาการเพาะปลูกทำการเกษตรหรือไม่ รวมทั้งมีการตั้งข้อสงสัยตัวเลขผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยในส่วนของผู้นำชุมชนในพื้นที่หลักเห็นด้วย 100% โดยตั้งข้อสังเกตถึงการจัดเวทีมีการข้อมูลฝ่ายเดียว พร้อมเสนอควรแยกเวทีรับฟังผู้นำชุมชนกับประชาชนออกคนละเวที และยังทักท้วงเรื่องการเชิญกลุ่มคนเข้าร่วมเวทีรับฟังโดยที่ผ่านมาไม่กระจายไปทุกกลุ่มอาชีพ โดยถูกมองว่าเลือกเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มหรือบุคคลที่สนับสนุนหรือๆไม่ รวมทั้งไม่มีการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามก่อนปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น นายกฤษณ์ คงเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่าแม้กรมเชื้อเพลิงฯจะมีหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมการขุดเจาะและหารายได้ให้กับประเทศ แต่ข้างหลังมีประชาชนที่ต้องรับฟัง ในเวทีวันนี้มี 2 ประเด็นที่จะขอเน้นโดยประเด็กแรกคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ซึ่งในเวทีระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน ในการยกทีมไปให้ความรู้กับชาวบ้านก็จะพูดหรือให้ข้อมูลที่คิดว่าดีต่อโครงการในขณะที่ชาวบ้านไม่มีพื้นฐานและไม่มีความรู้ความเข้าใจทำให้เกิดการคล้อยตามขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังเป็นแบบนี้อยู่ หากมีการสรรหาคนที่คิดต่างหรือมีความรู้ไปให้ความรู้ชาวบ้าน โดยไม่อยากให้มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นศัตรูหรืออยู่ฝ่ายตรงกันข้าม แต่คนเหล่านี้อาจจะให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลที่ดีๆ เพื่อให้ทางบริษัทที่ปรึกษาฯนำไปหาแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหา
“ในเวทีระดับจังหวัดยังไม่สำคัญเท่าเวทีระดับล่าง เพราะในระดับจังหวัดเรายังพอมีข้อมูลและมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ แต่ในเวลาระดับล่างชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้อะไรเลยจนเกิดการคล้อยตามไป ก็จะทำให้เกิดข้อครหาเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียว จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีภูมิความรู้เหล่านี้ได้ไปพูดหรือให้ความความรู้กับชาวบ้านด้วย ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงฝากกรมเชื้อเพลงในประเด็นนี้สำหรับการฟังความเห็นในเวทีทุกระดับ เชื่อว่าชาวเพชรบูรณ์ไม่ปฏิเสธหากสิ่งไหนจะทำความเจริญและสิ่งที่ดีมาสู่เขา”
นายกฤณษ์กล่าวอีกว่า อีกประเด็นเรื่องการประชาสัมพันธ์เรื่องบ่อน้ำมันเพชรบูรณ์มีมานานแล้ว ขุดกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีตั้งแต่ปี 2531 และตนเคยเป็นปลัดอำเภอศรีเทพเข้าไปดูแทบไม่มีอะไรเลย แต่ก็มีข่าวออกมาสูบเกินจ่ายน้อยซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหนแต่ก็เป็นข่าวในเชิงลบกับทางบริษัทฯ ถ้าบริษัทฯกับกรมเชื้อเพลิงให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่การไปลงพื้นที่ดูแล้วจบ แต่หมายถึงการถ่ายทอดข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรือสื่อโซเชียลของหน่วยงานหรือหน่วยราชการภายในจังหวัดในทุกๆเดือน ก็เชื่อว่าทั้งอุปสรรคและความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนก็จะเบาบางหรือน้อยลง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: