กรุงเทพฯ – มท. ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด
ตามที่พายุโพดุลและพายุคาจิกิ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัย ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.
ล่าสุด พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่องและรุนแรง ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกัน อิทธิพลของลมมรสุม อาจส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล มีระดับลดลงแต่ยังคงล้นตลิ่ง สอดคล้องกับความเห็นเชิงพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ว่าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง และสถานการณ์ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง
ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงประกาศยกระดับ ‘การจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3‘ ซึ่งถือเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด โดยให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล อำนวยการ ประสานการปฏิบัติ ประเมินสถานการณ์ ติดตามเฝ้าระหว่าง วิเคราะห์สถานการณ์ และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา รวมทั้งให้จัดตั้ง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี มี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ (Area Command) โดยมีส่วนราชการต่างๆ ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน
และให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) โดยให้ประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย กับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนจิตอาสา เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ โดยเร็ว และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย จะเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งด้านชีวิต ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ สิ่งสาธารณประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เพื่อฟื้นฟูให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกหน่วยงาน น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติ ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คิดปรับแนวทางแผนเผชิญเหตุ ทั้งภาพรวมและเฉพาะเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวบรวมความเสียหาย ประมาณการ ต่อยอด เตรียมการสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อลดผลกระทบ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: