X

เริ่มแล้วเทศกาลนักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2562

จังหวัดน่าน อำเภอปัว ร่วมกับ ชมรมการท่องเที่ยวอำเภอปัว เปิดงาน เทศกาลโลกของกว่างนักสู้แห่งขุนเขา และงานของดีอำเภอปัว ประจำปี 2562

วันนี้ 22 กันยายน 2562 บริเวณสถานีขนส่งรถโดยสารอำเภอปัว นายชนาธิป เสมแย้มนายอำเภอปัว เป็นประธานเปิดงานเทศกาลโลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2562 โดยนายชัยพฤกษ์ รุ่งรชตะวาณิช ประธานคณะกรรมการจัดงานโลกของกว่างและของดีเมืองปัว กล่าวรายงาน โดยมีประชาชนในชุมชนพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ 12 ตำบล 107 หมู่บ้าน ของอำเภอปัว ได้จัดขบวนแห่ หุ่นกว่าง มีริ้วขบวนแห่ที่สวยงามตระการตา เพื่อแสดงออกถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของท้องถิ่น

ซึ่งได้จัดขึ้น เป็นเวลาอย่างยาวนาน อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ได้จัดให้มีขบวนแห่ หุ่นกว่าง มีริ้วขบวนที่สวยงาม เพื่อแสดงออกถึงวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของท้องถิ่น ของชาวอำเภอปัว อีกทั้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีของท้องถิ่น ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายน 2562 กว่าง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า แมงคาม เนื่องจากธรรมชาติมันชอบคามกัน (คาม เป็นการต่อสู้ของกว่าง โดยเอาเขาประสานกัน คีบและดันกันไปมา)

หรืออาจเนื่องมาจากมักพบแมลงชนิดนี้อาศัยหากินอยู่ตามต้นคาม มีขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือหรือโตกว่านั้นเล็กน้อย มีขา 6 ขา มีเขาสองเขา ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้และหลีกทางไป ซึ่งบางครั้งตัวที่มีขนาดเท่าๆ กัน ใช้เวลาในการต่อสู้กันนานหลายชั่วโมง จึงได้รับฉายาว่า “นักสู้แห่งขุนเขา” กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี โดยเริ่มจากไข่ ฟักตัวเป็นตัวอ่อนอยู่ในดิน ตามโพรงไม้ ตอไม้ผุๆ หรือกองขี้เลื่อย เรียกว่า(แมงกั่นตู่) จากนั้นจะเป็นดักแด้ แล้วลอกคราบเป็นแมลงกว่าง ออกจากดินบินออกมา หาคู่ผสมพันธุ์ วางไข่ในราวเดือน สิงหาคม-พฤศจิกายนแล้วตายไป กว่างตัว ผู้จะมีเขาสองเขา ไปจนถึง 5 เขา

โดยใช้เขาล่างงัดและหนีบศัตรูเพื่อแย่งตัวเมียในการผสมพันธุ์ มีหลายขนาด ตัวเล็กเขาสั้นเรียกว่า(กว่างกิ)ตัวปานกลางเขายาวปานกลางเรียกว่า(กว่างแซม)ตัวใหญ่เขายาวเรียกว่า(กว่างโซ้ง) ส่วนตัวเมียไม่มีเขาเรียกว่า อีโม๊ะ หรือ (อีหลุ้ม) ส่วนอาหารของกว่าง ตามธรรมชาติได้แก่เปลือกไม้ ยางไม้ที่มีรสหวาน เช่น ต้นคาม ต้นมะค่า เถารกฟ้า ส่วนอาหารที่คนนิยมนำมาเลี้ยงกว่าง เช่น อ้อย กล้วย แตงไทยน้ำตาลเป็นต้น แต่ในปัจจุปันนี้กว่างเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง เพราะมีการเผาป่าใช้สารเคมี ไข่ และตัวอ่อนในดินจึงไม่รอดชีวิตเติบโตมาได้

อย่างไรก็ตาม หากฤดูฝน ในปีใด มีกว่างจำนวนกว่างมาก นับได้ว่าเป็นการบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ด้วย โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อีกมากมาย อาทิ จัดให้มีการประกวด ขบวนแห่จากหมู่บ้านต่างๆ การละเล่นพื้นบ้านและวิถีชีวิตของชนเผ่า การประลองชนกว่าง การประกวดกว่างสวยงาม การประกวดธิดากว่าง การแสดงนิทรรศการโลกของกว่างและวงจรชีวิตของกว่าง และการแสดงภูมิปัญญาพื้นบ้าน การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างๆ การเดินแฟชั่น

นอกจากนี้ จัดให้มี การจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีประชาชนในพื้นที่นำสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน นำออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องเงินและผ้าทอ และผลิตภัณฑ์ของชุมชนผ้าพื้นเมืองสินค้าในท้องถิ่น และการจำหน่ายสินค้าราคาถูกจากคาราวานสินค้า การออกร้านมัจฉาพาโชค โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยในวันที่ 28 กันยายน 2562 หลังเสร็จสิ้นงาน จะมีการปล่อยกว่าง กลับคืนสู่ป่า เพื่อเป็นการให้กว่างได้ขยายพันธุ์ต่อไป

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์

ลูกเป็ด เฝ้าน่าน