เลขา ศอ.บต. เผยกรณีจัดซื้อเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งกรรมการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก สรุป ไม่พบการทุจริตทุกขั้นตอน
จากกรณีที่มีเสียงวิพากวิจารณ์ในโลกสังคมออนไลน์ รวมทั้งการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางแห่ง ถึงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้กับประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กว่า 90 ตู้ ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท โดยมีความคิดเห็นต่างๆนานา ว่าราคาสูงเกินความจริงหรือไม่ และคุ้มค่ากับการติดตั้งให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ตามข่าวที่มีการนำเสนอตามสื่อสังคมออนไลน์นั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เลขาฯ ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ตนเองต้องขอยืนยันอีกครั้งว่า ก็จัดซื้อตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และในการจัดซื้อครั้งนั้นที่จะต้องจัดซื้อเร่งด่วน เนื่องจากว่า มีงบประมาณเหลือ และถ้าไม่รีบจัดซื้อ เงินจำนวนนี้ก็จะต้องส่งกลับ จึงต้องใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ เพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการได้ รวมทั้งหนังสือของกระทรวงการคลังที่บอกว่า ต้องจ้างซื้อเครื่องกรองน้ำตัวนี้เนื่องจากว่าเป็นเทคนิคชั้นสูง ในพื้นที่ไม่มี ซึ่งต้องจ้างด้วยวิธีพิเศษ แต่ได้มีการสอบราคา โดยให้ผู้รับจ้างที่มีโอกาสมาพูดคุย โดยการเชิญมา 3 ราย แต่มาเพียง 2 ราย ปรากฎว่าราคากลางนั้นเป็นราคาที่สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังดำเนินการให้ โดยราคากลาง 6 แสนกว่าบาท แต่ทาง ศอบต สามารถจัดซื้อได้ในราคา 5 แสนกว่าบาท ซึ่งถูกกว่าราคากลาง ส่วนความคุ้มค่านั้น บริษัทนี้ได้รางวัลนวัตกรรมใหม่ ที่มีลักษณะการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และสามารถผลิตน้ำได้กว่า 4 พันลิตรต่อวัน โดยคำนวณราคาแค่ลิตรละ 5 บาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6 แสนบาท ต่อเดือน ที่ชาวบ้านไม่ต้องเสียเงินแม่แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นเครื่องนี้ที่จัดซื้อทั้งหมด จะสามารถผลิตน้ำได้มีมูลค่าเดือนละ 55 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่ซื้อทั้งปี ซึ่งคือความคุ้มค่าที่สุด และชาวบ้านในพื้นที่มีความพอใจ ราคาจัดซื้อถูกกว่าราคากลาง และคุณภาพของน้ำที่ดีมาก
“การจัดซื้อเป็นไปตามระเบียบทั้งหมด ที่สามารถจัดซื้อได้ด้วยวิธีพิเศษ นอกจากนั้นในการดูแลหรือรับประกันนั้น ทางบริษัท ก็แจ้งว่าจะดูแลให้เป็นเวลา 2 ปี จากเดิมแค่ 1 ปี เพราะต้องการเผยแพร่ประสิทธิภาพของเครื่องด้วย และจะมีการอบรมให้ประชาชนโดยเฉพาะ อบต.ในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถดูแลเครื่องต่อไปได้ ทั้งนี้หลังจากมีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต ทางศอ.บต.ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ขึ้นมา โดยตั้งบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง ศอ.บต. ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ในเรื่องนี้ และอีกหลายๆท่าน ซึ่งจากการสอบข้อเท็จจริงล่าสุดวานนี้ ก็รับทราบมาว่า ทุกขั้นตอนในการจัดซื้อ ไม่มีขั้นตอนใดพบว่ามีการทุจริต โดยกรรมการตรวจสอบชุดนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ ศอ.บต. ไม่สามารถควบคุมได้ มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม เข้ามาเป็นกรรมการตรวจสอบ” เลขา ศอ.บต. กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: