วันนี้ (2 ต.ค. 2562) ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เทศบาลเมืองพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายสุเมธ บุญยก นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง, นางสาวลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช และนางศิริพร ทองทวี วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานแข่งโพนลากพระชิงถ้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 โดยเทศบาลเมืองพัทลุงจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีประจำถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ มีเฉพาะจังหวัดพัทลุง
ซึ่งในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 ตุลาคม 2562 โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแข่งโพนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี การประกวดธิดาโพน, นางงามโพน, หนุ่มโพนเมืองลุง, การแสดงดนตรี, กิจกรรมบนเวที, พิธีตักบาตรเทโว, พิธีสมโภชเรือพระ และสมโภชโพน, การประกวดเรือพระและการแข่งขันซัดต้ม ฯลฯ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- สงขลา M79 ถล่มเเคมป์คนงานสร้างเจ้าแม่กวนอิม บาดเจ็บ 3 ราย พื้นที่ อ.เทพา
- มหกรรมอาหารทะเลพื้นบ้านประมงเรือเล็กระยอง อาหารทะเลสดๆ-สินค้าชุมชน ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง
สำหรับการแข่งโพนชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีในปีนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ โพนเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี, โพนขนาดเล็ก, โพนขนาดกลาง และโพนขนาดใหญ่ โดยรอบคัดเลือกจะทำการแข่งขันระหว่างวันที่ 2-10 ตุลาคม 2562 ณ เวทีกลางสำนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป และในคืนวันที่ 12 ตุลาคม 2562 จะมีการประกวดนางงามโพน ซึ่งผู้เข้าประกวดต้อมมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 90 กิโลกรัม
ส่วนในวันที่ 14 ตุลาคม ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ในภาคเช้าจะมีพิธีตักบาตรเทโว ที่สำนักวิปัสสนาวังสันติบรรพต หรือวัดเขาวังเนียง จากนั้นจะมีการลากเรือพระจากวัดเขาวังเนียง ไปร่วมชุมนุมกับเรือพระที่มาจากวัดต่างๆ ที่ชายหาดแสนสุขลำปำ พร้อมพิธีสมโภชเรือพระพิธีสมโภชโพนมงคล 9 ลูก ชมการแข่งขันซัดต้ม และเลือกซื้อสินค้าพื้นบ้าน เลือกซื้ออาหารที่ตลาดน้ำลำปำ
ทั้งนี้งานประเพณีแข่งโพน ถือว่าเป็นประเพณีประจำถิ่นที่มีเฉพาะในจังหวัดพัทลุงที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายร้อยปี ต้นกำเนิดของการแข่งโพน มาจากการตีตะโพน หรือ พัทลุงเรียกโพน เพื่อให้จังหวะและสื่อสารให้ประชาชนร่วมกิจกรรมลากพระ หรือชักพระของคุ้มวัดต่าง ๆ ต่อมาจึงมีการตีประชันเสียงและพัฒนามาเป็นการแข่งโพนในปัจจุบัน.
…………………………………
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: