งบฯภัยแล้ง 2562 จำนวน 15,800 ล้านบาท ทั่วประเทศผ่านการเซนต์สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้รับเหมาทั่วประทศไปแล้วตามเส้นตาย 30 ก.ย.ด้วยวิธีการพิเศษ”ตกลงราคา”ล้วน ๆ คนคุมเงิน คุมการจัดการเป็นมหาดไทย คนคุมงานเป็นท้องถิ่น หากพลาดต้องรับเต็ม ๆ สภาพของคนท้องถิ่นจึงไม่ต่างกับการเอาคอขึ้นพาดเขียง เสี่ยงดวงกับโครงการนี้
จะเป็นอีกโครงการที่พิลึกพิลั่นที่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด จัดทำงบฯ เหมือนกันเป๊ะ โดยวิธีการหั่นซอยโครงการให้งบฯ ไม่เกิน 500,000 บาท จากงบฯ ก้อนโต 15,800 ล้านบาท รวมโครงการทั้งหมดจะมีไม่ต่ำกว่า 31,600 โครงการ และแทบทั้งหมดเป็นโครงการ”ขุดลอก”
มันเป็นเทคนิคพิเศษที่เลี่ยงวิธีประกวดราคาผ่านระบบ e-bidding เพียงตั้งโครงการแบบเอาง่าย จัดเร็ว บางพื้นที่แค่ขึ้นโครงคร่าว ๆ แล้วเรียกผู้รับเหมามาคุยตกลงราคาถ้าโอเคก็เซนต์สัญญาจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อย
เงื่อนเวลาที่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศต้องแล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. ทำให้ “โครงการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากภัยแล้งและอุทกภัย”ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย.ที่ผ่านมา บรรดาข้าราชการฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้อง นักการเมือง(สายรับเหมา) ในพื้นที่น้ำท่วมแทบไม่มีเวลามาสนใจเรื่อง “อุทกภัย”ที่อยู่ในงบฯก้อนเดียวกัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. ผนึกพันธมิตร จัดงาน "เหนือพร้อม..เที่ยว" Kick off แคมเปญ "แอ่วเหนือ...คนละครึ่ง" เริ่ม 1 พ.ย.นี้
- จ.สกลนคร จัดพิธีรับ-ส่งทหารกองเกินฯ ผลัดที่ 2 ประจำปี 2567 รวมจำนวน 1,332 นาย
- หลวงพ่อสุริยันต์ เผยยอดมหากฐินถวาย วัดป่าวังน้ำเย็น ทะลุ 90 ล้านบาท
- “เหนือพร้อม…เที่ยว” Kick off แคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง”
ครม.อนุมัติงบฯแก้ภัยแล้ง 20 ส.ค.ใน 76 จังหวัด วงเงิน 15,800 ล้านบาท คิดกันแบบง่าย ๆ ไม่ต้องดูว่าจังหวัดไหนแล้งมากแล้งน้อย จังหวัดใหญ่ จังหวัดเล็กไม่ใช่ประเด็น แค่ก็ใช้วิธีง่าย ๆ เอา 76 หาร 15,800 ก็ตกจังหวัดละ 200 ล้านบาท ยกเว้นสุรินทร์- บุรีรัมย์ ที่นายกฯประยุทธ์ ลงพื้นที่ได้พิเศษ 500 ล้าน
พอมาถึงระดับจังหวัด ที่ได้มา 200 ล้านก็เอา 200 ไปหารจำนวนประชากรแต่ละอำเภอว่าจะได้งบฯ เท่าไหร่ จึงกลายเป็นว่าอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัดเป็นพื้นที่ได้รับงบฯภัยแล้งมากที่สุด เพราะประชากรเยอะที่สุด
เริ่มต้นที่คิดแบบง่าย ๆ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานที่คุมเงินก้อนนี้ โดยตามแผนจะเป็นการบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เอาเข้าจริงเท่ากับมหาดไทยรวบมาทำเองแทบทั้งหมด
เมื่อ “นาย” รับหน้าเสื่อมาคนปฏิบัติจริงคือ “นายอำเภอ”ที่เกิดอาการเครียดทั่วประเทศ เพราะกลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีผู้ชำนาญด้านช่าง ไม่มีพัสดุ ในที่ว่าการอำเภอจริง ๆ ในสายตรงของกรมการปกครองก็มีแค่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และเสมียนตรา เท่านั้น
รับงบฯ รับงานมาแล้ว พอเข้าตาจนนายอำเภอทั่วประเทศต้องร่อนหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และอบต.เพื่อการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่าง และพัสดุเพื่อมาทำหน้าที่ทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดราคากลาง และขอให้ปลัดหรือรองปลัดฯมาทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับงาน
หนังสือถึงนายกเทศมนตรี และนายกอบต.นายอำเภอบางคน ลงท้ายด้วยคำว่า “เพื่อพิจารณา” บางคน ใช้คำว่า “เพื่อขอความอนุเคราะห์และคงได้รับความร่วมมือด้วยดี”
อย่างไรเสีย มันก็เป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะงานนี้ส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ ตั้งแต่ครม.-รมว.มท.-ผวจ.-นายอำเภอ ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว
ใครกล้าแข็งขืน ก็ต้องคิดหนักเพราะเข้าข่ายกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ที่แม้จะไม่ใช่ผุ้บังคับบัญชาโดยตรงแต่อำนาจในการกำกับดูแลตามกฎหมายที่ตราขึ้นช่วง คสช.คุมอำนาจ หากผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอไม่แฮปปี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็นั่งตบยุงได้เลย
ต่างล้วนจำใจช่วย ทั้งที่รู้ว่าเป็นการ “เอาคอขึ้นเขียง”
นายอำเภอในฐานะผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หลายคนก็เครียด เพราะรู้ถึงจุดบอด จุดตายของโครงการที่เน้นขุดลอกแหล่งน้ำ ยิ่งมีการลือสนั่นว่างานนี้มีการชักเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ระดับ 40 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ยิ่งเครียด
ผอ.ช่างเทศบาล/ ช่างอบต.ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ช่วยงาน แต่ในทางกฎหมายต้องรับผิดชอบเต็ม ๆ เพราะถือเป็นการ“ยืมตัว”มาช่วยงาน ไม่ต่างกับปลัด หรือรองปลัด ที่ต้องมารับหน้าเสื่อเป็น “กรรมการตรวจรับ” ต่างหวาดเสียวกันถ้วนหน้า
ยิ่งเวลากระชั้นชิดที่มีเวลาจัดเตรียมโครงการเพียงเดือนเดียว บางพื้นที่มีเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เช่น ที่ จ.อุดรธานี ที่นายอำเภอทำหนังสือของความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ที่ชำนาญงาน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหนังสือทางราชการ ลงวันที่ 18 ก.ย.2562 เพื่อที่จะทำโครงการให้แล้วเสร็จและทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 30 ก.ย.2562
หลายคนบอกไม่รู้ที่มาที่ไปของโครงการ รู้แต่ว่าให้เน้นโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ หั่นโครงการให้ไม่เกิน 5 แสน และต้องหาผู้รับเหมามาเซนต์สัญญาไม่เกิน 30 ก.ย.62
คนวงในที่รู้ลึกตื้นหนาบางในวงการจัดซื้อจัดจ้างก็บอกว่า งานนี้เข้าข่ายเละตุ้มเป๊ะ เพราะผู้รับเหมางานรู้ตัวล่วงหน้าตั้งแต่โครงการยังไม่ประกาศด้วยซ้ำ
ที่หวาดเสียวก็เห็นจะเป็นการตรวจสอบจากภาคประชาชนและผู้รับเหมาด้วยกันเองถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการ
การเร่งขุดลอกแหล่งน้ำหน้าฝนนี่เป็นตำนาน “ของหวานมหาดไทย”มายาวนาน
บางคนก็เรียกมันว่า “โครงการแต่งขอบ”
ราคากลางในการขุดลอกที่กำหนดขึ้น ลง ตามราคาน้ำมันที่ระดับ 32-35 บาท ต่อลูกบาศก์เมตร ผู้รับเหมาเส้นใหญ่ที่จ่ายผ่าน ก็ทำแค่เอาแบคโฮล้วงๆ เอาดินขึ้นมาแต่งขอบห้วย หนอง คลอง บึง แล้วก็ติ๊งต่างวัดความกว้าง ยาว สูง จากระดับขอบบ่อลงถึงก้นบ่อ ทั้งที่ต้องวัดความสูงจากระดับดินเดิม จึงทำให้โครงการแย่ๆ แบบนี้ไม่ได้เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำจากการขุดลอกอะไรเลย
แล้วจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ยังไง ?
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งบฯ ขุดลอกก้อนโตทั้งอนุมัติโดยครม. และการจัดซื้อจัดจ้างโดยท้องถิ่น ทำโครงการลักษณะนี้มายาวนาน แต่ก็ยังเห็นภาพเอารถบรรทุกน้ำตระเวนแจกชาวบ้าน และนั่นก็เป็นงบฯ ที่จัดเป็นมาตรฐานทุกปีเป็นงบฯภัยพิบัติให้ผู้ว่าฯ อนุมัติ
ยุคข้าราชการใหญ่กว่าผู้รับเหมา มักจะมีอะไรแปลก ๆ ผู้รับเหมาบางรายมีชื่อได้งานตลอด แต่ความจริงแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้งานที่ไหน แค่มี บริษัท หรือ หจก.ให้ “ผู้มีอำนาจ” ยืมไปใช้ แล้วส่งเครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุมาให้ และรอแบ่งกำไรตามที่ตกลงเป็นอันจบ
ส่วนผู้รับเหมาท้องถิ่นที่มีเครื่องจักร มีลูกน้องต้องดูแล วิ่งเต้นแทบตายโอกาสจะได้งานแบบนี้ยากเต็มทน
โครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่เน้นการขุดลอกแหล่งน้ำหน้าฝนที่เริ่มเห็นความผิดปกติตั้งแต่การจัดสรรงบฯ การให้หน่วยงานที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการมาเป็นเจ้าภาพ การใช้เทคเทคนิคหลีกเลี่ยงการประกวดราคาโดยการหั่นซอยโครงการให้ไม่เกิน 5 แสนกันทั้งแผ่นดิน และเน้น ๆ การขุดลอกนี่เป็นโจทย์ที่น่าติดตาม
คนคุมเงิน คุมการจัดการเป็นมหาดไทย คนคุมงานเป็นท้องถิ่น หากเกิดพลาดไม่พ้นที่ท้องถิ่นจะรับเต็ม ๆ ตั้งแต่การจัดทำโครงการ การคุมงาน การตรวจรับงาน
“งานนาย” จำใจก็ต้องทำ เพราะเป็นเป็นข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: